The Institute of Bible Doctrine
หลักคำสอนการบัพติศมา 7 รูปแบบ
(The Doctrine of the Seven Baptisms)
รวบรวมข้อมูลโดย
อาจารย์ทิม แมคโลคแลน
ฮีบรู 6:1-2 “เหตุฉะนั้นให้เราละคำสอนพื้นฐานเกี่ยวกับพระคริสต์ไว้ และให้เราก้าวหน้าไปถึงความบริบูรณ์ อย่าเอาสิ่งเหล่านี้มาวางเป็นรากอีกเลย คือให้เปลี่ยนความคิด [คำว่า μετάνοια / metanoia] ในเรื่องการกระทำที่ตายแล้ว และความเชื่อในพระเจ้า และหลักคำสอนเรื่องบัพติศมา และในการวางมือ และการเป็นขึ้นมาจากตาย และการพิพากษาลงโทษเป็นนิตย์นั้น”
หลักคำสอนการบัพติสมา 7 รูปแบบ
คำนำ
คำว่า “บัพติศมา” ไม่ได้มาจากภาษาอังกฤษ แต่เป็นคำในภาษากรีก ซึ่งในรูปแบบคำกริยาแปลว่า “เข้าส่วน” “มีส่วน” “ให้เข้ากัน” “กลายเป็นสิ่งเดียวกัน” เป็นต้น (ภาษาอังกฤษมีคำว่า “to identify” ซึ่งอาจจะตรงกับความหมายของคำว่า บัพติศมา มากกว่าคำใดๆ ในภาษาไทย) คำกริยาคือ βαπτίζω (อ่านว่า บัพติโซ) ได้ปรากฏ 80 ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ ส่วนคำนาม βάπτισμα (“บัพติสมา”) ได้ปรากฏมากกว่า 20 ครั้ง เกือบทุกครั้งที่คำว่า “บัพติโซ” หรือ “บัพติสมา” ได้ปรากฏในพระคัมภีร์ ก็ต้องหมายถึงหนึ่งใน 7 รูปแบบบัพติศมา ซึ่งสามารถแบ่งเป็นสองประเภท ได้แก่ Real Baptisms (หรือ Actual Identification ) ซึ่งต่อจากนี้จะเรียกว่า “บัพติศมาแท้” และ Ritual Baptism (หรือ Representative Identification) ซึ่งในการแปลนี้จะเรียกว่า “บัพติศมาอันเป็นพิธีกรรม”
1.Real Identifications (Baptisms)/บัพติศมาแท้
(ซึ่งมีผู้หนึ่งได้เข้าส่วนกับอีกผู้หนึ่งหรืออีกสิ่งหนึ่ง) ได้เกิดขึ้นตามลำดับเวลาประวัติศาสตร์ดังต่อไปนี้
-
บัพติศมาที่นำชนชาติอิราเอลได้เข้าส่วนในโมเสส (และ “ในเมฆ และในทะเล”) (1 โครินธ์ 10:2)
-
บัพติศมาแห่งไม้กางเขน (มัทธิว 20:22)
-
การรับบัพติศมาจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ (1 โครินธ์ 12:13)
-
บัพติศมาด้วยไฟ (มัทธิว 3:11)
2. Ritual Identifications (Baptism) (บัพติศมาอันเป็นพิธีกรรม)
บัพติศมาอันเป็นพิธีกรรมคือ พิธีกรรมซึ่งใช้เป็นการสอน การสำแดง หรือการระลึกถึงบัพติศมาแท้ดังกล่าวนั้น
-
ยอห์นประกอบพิธีบัพติศมาในน้ำ ให้แก่ผู้เชื่อในพระคริสต์ (มัทธิว 3:1-10)
-
ยอห์นประกอบพิธีบัพติศมาในน้ำ ให้แก่พระเยซูคริสต์ (มัทธิว 3:13-17)
-
อัครสาวกและผู้นำคริสตจักรประกอบพิธีบัพติศมาในน้ำ ให้แก่ผู้เชื่อในพระคริสต์ (กิจการ 2:38)
การจำกัดความของคำว่า “บัพติศมา”
จะเข้าใจความหมายของคำว่า βάπτισμα (บัพติศมา) ก็ต้องดูที่รากศัพท์ก่อน ซึ่งคือคำว่า βάπτω (บัพโต) มีความหมายว่า “จุ่ม” เช่น กวีกรีกโบราณชื่อ โฮเมอร์ ได้นำคำกริยาว่า “บัพโต” มาใช้ในการพรรณนางานของช่างตีเหล็ก เขียนว่า
“(ช่างตีเหล็ก) ดึงเหล็กแท่งนั้นจากเตาไฟร้อนผ่าวแดงๆ แล้ว จุ่ม [บัพโต] ลงมาในน้ำทันที น้ำจึ่งให้ไฟดับนิรันดร์” (Homeric Allegories, ch. 9.)
ในพระคัมภีร์เดิมฉบับแปลเป็นภาษากรีก (ที่เรียกว่า “Septuagint” หรือ “LXX”) โยนาธานได้ “เอาปลายไม้ที่ถืออยู่แหย่ (ภาษากรีก “บัพโต”) ที่รังผึ้ง” (1 ซามูเอล 14:27) และในลูกา 16:24 เศรษฐีที่กำลังถูกทรมานในแดนคนตายได้วิงวอนให้อับราฮัมบอกลาซารัส “มาเพื่อจะเอาปลายนิ้วจุ่ม [บัพโต] ในน้ำ แล้วมาแตะลิ้นของข้าพเจ้าให้เย็น”
ในยุคโบราณ คำว่า “บัพติศมา” และ “บัพติโซ” มักจะถูกนำมาใช้ในการอุปมาและคำเปรียบเทียบ ในตัวอย่างด้านล่าง เราจะเห็นว่านักเขียนสมัยโบราณ ได้ใช้คำว่า บัพติศมา และ บัพติโซ อย่างไร ในกลุ่มตัวอย่างแรก คำที่เหมาะสมที่สุดในการแปลคำว่า บัพติโซ คือ คำว่า “ท่วมท้น”
-
“ความนิทราได้ ท่วมท้น [บัพติโซ] เขา โอ้! เพื่อนบ้านของความมรณามาเยือนแล้ว!” (Evenus of Paros, Epigram XV)
-
“และเมื่อเขา ถูกท่วมท้น [บัพติโซ] ด้วยโทสะ เขาจมลึกลงไป ยังคงปรารถนาที่จะเป็นอิสระ แต่กลับเกลียดแค้นสิ่งที่เคยรัก” (Achilles Tatius, book VI. ch. 19)
-
“ส่วนแบ่งก้อนที่สอง พระราชาได้โปรดนำเข้ากองกลาง...เนื่องด้วยเงินนี้มีมากพอ ราษฎรจึงไม่จำเป็นที่จะ ถูกท่วมท้น [บัพติโซ] ด้วยภาษีมากมาย” (Diodorus, the Sicilian, Historical Library, I. ch. 73)
-
“เพราะรู้ว่าเขาเหลวไหลและเสเพล และ ท่วม (บัพติโซ) ด้วยหนี้ตั้ง 50 ล้าน” (Plutarch, Life of Galba, XXI.)
บัพติศมา หมายถึง “ได้เข้าส่วนกัน” หรือ “เกี่ยวข้องกัน”
วีรบุรุษและนักเขียนประวัติศาสตร์สมัยกรีกโบราณชื่อ Xenophon ได้บันทึกถึงการทำสนธิสัญญาระหว่างสองฝ่าย ซึ่งพวกเขานั้นแสดงถึงความเป็นหนึ่งเดียว โดยได้นำดาบและหอกมาทำ “บัพติศมา” ในเลือดสัตว์
“หลังจากนั้น เมื่อทั้งสองฝ่ายได้หยุดนิ่งและหันหน้าเข้าหากัน เหล่าพลเอกและร้อยเอกได้พบกับอาริอัส สองฝ่ายนั้น คือนายทหารกรีกและอาริอัส รวมถึงนายทหารยศสูงของเขา ได้สาบานว่าจะไม่ทรยศกัน... ...คำสาบานนี้เขาได้ผนึกไว้ด้วยการบวงสรวงวัวตัวผู้ หมูตัวผู้ และแกะตัวผู้ โดยใช้โล่เป็นแท่นบูชาและภาชนะเก็บเลือด เสร็จแล้วฝ่ายกรีกนำดาบเล่มหนึ่ง ส่วนฝ่ายคนป่า (ฝ่ายอาริอัส) ก็นำหอกด้ามหนึ่งมา จุ่ม (บัพติโซ) ในเลือดนั้น...” (Xenophon: The Persian Expedition, Book 2, Chap. 2, section 8-9).
บัพติศมา (ที่แท้จริง ไม่ใช่พิธี) ทำให้มีการเปลี่ยนแปลง
คำกริยา “บัพติโซ” ยังได้พบในอุตสาหกรรมย้อมผ้า ด้วยว่าพื้นผ้าสีธรรมดาจะรับ “บัพติโซ” ในหม้อสีย้อม เมื่อชูขึ้นมาอีกครั้งก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว การที่มันได้ “เข้าส่วนกับ” (identified with) สีย้อมผ้านั้นทำให้ผ้ากลายเป็น “สิ่งใหม่” ผ้าสีแดงจะออกมาจากสีย้อมสีแดง ผ้าสีน้ำเงินก็จะออกมาจากสีย้อมสีน้ำเงิน เพราะการ “รับบัพติศมา” นั้นผ้าสีธรรมดาได้รับการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร
“แล้วข้าพเจ้าได้เห็นสวรรค์เปิดออก และดูเถิด มีม้าขาวตัวหนึ่ง พระองค์ผู้ทรงม้านั้นมีพระนามว่า "สัตย์ซื่อและสัตย์จริง" พระองค์ทรงพิพากษาและกระทำสงครามด้วยความชอบธรรม พระเนตรของพระองค์ดุจเปลวไฟ และบนพระเศียรของพระองค์มีมงกุฎหลายอัน และพระองค์ทรงมีพระนามจารึกไว้ซึ่งไม่มีผู้ใดรู้จักเลย นอกจากพระองค์เอง พระองค์ทรงฉลอง [ใส่เสื้อยาว] พระองค์ที่จุ่ม [βάπτω/บัพโต] เลือด และพระนามที่เรียกพระองค์นั้นคือ "พระวาทะของพระเจ้า" ” (วิวรณ์ 19:11-13)
ข้อพระคัมภีร์สามข้อนี้กำลังเผยถึงเหตุการณ์ในอนาคต ที่พระเยซูจะทำสงครามอันชอบธรรมกับศัตรูของอิสราเอล (เป็นการจบท้าย 7 ปีแห่งการทนทุกข์เวทนาและจุดเริ่มต้นยุคพันปีของพระคริสต์) ทั้ง “ม้าสีขาว”, “พระเนตรซึ่งดุจเปลวไฟ”, “มงกุฎหลายอัน” และ “เสื้อยาวที่จุ่มเลือด” เป็นสัญลักษณ์ถึงจุดประสงค์อันรุนแรงและชอบธรรมของพระองค์ (ภาษาอังกฤษเรียกว่า “righteous violence”) ในฐานะที่พระองค์ทรงรับตำแหนงและพระนามว่า “พระเยโฮวาห์จอมโยธา” และ “พระเจ้าแห่งกองทัพอิสราเอล” (1 ซามูเอล 17:45; สดุดี 59:5; อิสยาห์ 13:9-11; 29:6; มาลาคี 4:1:3)
ตัวอย่างอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้เราเข้าใจชัดเจนขึ้นถึงความหมายของคำว่า “บัพติโซ” ได้มาจากนักเขียนชาวกรีกชื่อ Nicander (มีชีวิตอยู่ราวๆ 200 ปี ก่อนคริสตกาล) ซึ่งเขียนสูตรอาหารทำผักดอง การเขียนสูตรนั้นช่วยเรามากเพราะว่าใช้ทั้งสองคำคือ “บัพโต” และ “บัพติโซ” Nicander เขียนว่าในการทำผักดอง ผักควรถูกนำมา “บัพโต” ในน้ำเดือด ก่อนที่จะได้รับ “บัพติโซ” ในน้ำส้มสายชู คำกริยาทั้งสองนั้นพูดถึงการจมลงในน้ำ แต่ว่ามันต่างกันที่ครั้งแรกเป็นแค่เวลาสั้นๆ (การเข้าส่วนกันแค่ชั่วคราว) แต่ครั้งที่สองนั้น ผักได้รับบัพติศมาอย่างถาวร ผลลัพธ์คือ ผักนั้นได้รับการเปลี่ยนแปลงที่ถาวรคือ กลายเป็นผักดอง
เพราะฉะนั้น จากตัวอย่างดังกล่าว (อย่างเช่น ผ้าธรรมดากลายเป็นผ้าสี ผักสดกลายเป็นผักดอง) เราสามารถเห็นคำว่า “บัพติโซ” และ “บัพติศมา” มีความหมายว่า “สิ่งหนึ่งถูกนำมาให้เข้าส่วนกับอีกสิ่งหนึ่ง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ถาวร”
บัพติศมา “แท้” ประการที่ 1
ชนชาติอิสราเอลได้รับบัพติศมา เข้าส่วนในโมเสส (1 โครินธ์ 10:1-2)
Real Baptism No. 1: The baptism (identification) of Israel into Moses (1 Cor. 10:1-2)
“พี่น้องทั้งหลาย ยิ่งกว่านี้ข้าพเจ้าอยากให้ท่านทั้งหลายเข้าใจว่าบรรพบุรุษของเราทั้งสิ้นได้อยู่ใต้เมฆ และได้ผ่านทะเลไปทุกคน และทุกคนได้รับบัพติศมาเข้าส่วนในโมเสส ในเมฆและในทะเล” (1 โครินธ์ 10:1-2 แปลตรงจากต้นฉบับภาษากรีก)
ในข้อพระคัมภีร์สองข้อนี้ อัครทูตเปาโลกำลังเขียนถึงชาวยิวรุ่นที่อพยพออกมาจากอียิปต์ (“บรรพบุรุษของเรา”) ซึ่งทุกคนนั้นได้รับบัพติศมา (คือ “เข้าส่วนในโมเสส” / “identified with Moses”) และโมเสสนั้นก็ได้เข้าส่วนในเมฆ และในทะเลอีกที โมเสสเป็นผู้นำที่พระเจ้าทรงกำหนดและแต่งตั้งให้ และเป็นผู้เดียวที่กระทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้า ณ ทะเลแดงนั้น ชนชาติอิสราเอลจึงต้องได้เข้าส่วนกับโมเสสเพื่อให้อยู่ในพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับชีวิตและแผนการประวัติศาสตร์ที่พระองค์ทรงมีต่อพวกเขา
การใช้วาจกกลาง
ในการสอนของนักภาษาศาสตร์กรีก George G. Kline ที่มีหัวข้อของเรื่องว่า “The Middle Voice in the New Testament” (“การใช้วาจกกลางในพระคัมภีร์ใหม่”) เขาสรุปการสอนเกี่ยวกับสามวาจกในภาษากรีกโดยเขียนว่า “กรรตุวาจก (active voice) แสดงถึงการที่ประธานของประโยคเป็นผู้กระทำ กรรมวาจก (passive voice) แสดงถึงการที่ประธานของประโยคเป็นผู้ถูกกระทำ, ไม่ใช่ผู้กระทำ อย่างไรก็ตาม วาจกกลาง (middle voice) แสดงถึงการที่ประธานของประโยคได้เกี่ยวข้องกับการกระทำเป็นกรณีพิเศษ หรือจะได้รับผลประโยชน์จากการกระทำนั้น ใน1 โครินธ์ 10:2 ซึ่งเขียนด้วยวาจกกลาง(middle voice) มีหมายความว่า พวกอพยพได้รับผลประโยชน์จากการรับบัพติศมาเข้าส่วนในโมเสส
มีแต่โมเสสที่วางใจในพระเจ้าและวางใจในพระสัญญาที่พระองค์ทรงมีต่ออิสราเอล
ทุกคนที่ได้อพยพออกจากอียิปต์ (รวมชาวยิวและคนต่างชาติ) ได้กบฏต่อพระเจ้า ยกเว้นก็แต่เพียงโมเสส(ขอผู้อ่านได้อ่านอพยพ 14:10-31)
“บรรพบุรุษของข้าพระองค์ทั้งหลายเมื่อพวกเขาอยู่ในอียิปต์ พวกเขามิได้เข้าใจการมหัศจรรย์ของพระองค์ พวกเขามิได้ระลึกถึงความเมตตาอันอุดมของพระองค์ แต่ได้กบฏต่อพระองค์ที่ทะเล ที่ทะเลแดง” (สดุดี 106:7)
โมเสสเป็นผู้เดียวที่ประยุกต์พระคำของพระเจ้ามาใช้ (the Faith-rest Drill) ซึ่งเป็นเหตุทำให้พระเจ้าช่วยกู้พวกเขาโดยการแหวกทะเลแดง อะไรที่ทำให้โมเสสยังคิดและดำเนินชีวิตด้วยความชื่อภายใต้ความกดดันที่แสนหนัก? คำตอบคือ เขาปักใจไว้กับพระผู้เป็นเจ้าเสมอ! (He had “Occupation with Christ”).
“โดยความเชื่อ ท่าน [โมเสส] ได้ออกจากประเทศอียิปต์ โดยมิได้เกรงกลัวความกริ้วของกษัตริย์ [ฟาโรห์] เพราะท่านยอมทนอยู่เหมือนประหนึ่งได้เห็นพระองค์ผู้ไม่ทรงปรากฏแก่ตา” (ฮีบรู 11:27)
“โดยความเชื่อ [ของโมเสสเพียงผู้เดียว] พวกเขา [ทั้งชนชาติอิสราเอลและคนต่างชาติ] ได้ข้ามทะเลแดงเหมือนกับว่าเดินบนดินแห้ง แต่เมื่อพวกอียิปต์ได้ลองเดินข้ามดูบ้าง ก็จมน้ำตายหมด” (ฮีบรู 11:29)
รับบัพติศมาเข้าส่วนกับเมฆ และทะเล
“เมฆ” พูดถึงพระผู้เป็นเจ้า และการทรงนำของพระองค์ เมฆคือพระเยซูคริสต์ (1 โครินธ์ 10:2-4) ในรูปร่างของเมฆนั้น พระเยซูได้นำพวกเขาข้ามทะเลแดง ซึ่งพวกเขาได้กระทำตาม
“ทะเล” ซึ่งพระเจ้าทรงแหวกออก เล็งถึงฤทธิ์อำนาจของพระองค์ คือพวกเขาได้เดินข้ามไป “เหมือนเดินในดินแห้ง” ก่อนที่พระเจ้าทรงทำลายกษัตริย์และกองทัพของเขา ชื่อเสียงของพระเจ้าได้แผ่ไปทั่วโลกเพราะสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำที่ทะเลแดงนั้น (โยชูวา 2:10) แม้กระทั่งจนทุกวันนี้ ใครๆ ก็เคยได้ยินเรื่องนี้ (เช่น ผ่านการเรียนพระคัมภีร์ การอ่านหนังสือ หรือ ดูหนัง) ซึ่งทำให้เขารู้ว่าพระเจ้าทรงปกป้องชนชาติของพระองค์ที่ทะเลแดงนั้น
การสรุป
ในการที่รุ่นอพยพนั้นได้รับบัพติศมาเข้าส่วนในโมเสส คนของพระเจ้าไม่ได้เปียกน้ำเลย! และเพราะการที่พระเจ้าให้พวกเขาได้ “เข้าส่วน” ในโมเสส พวกเขาจึงสามารถข้ามทะเลแดงแล้วพ้นจากเงื้อมมือของฟาโรห์
บัพติศมา “แท้” ประการที่ 2
บัพติศมาแห่งไม้กางเขน (หรืออาจเรียก “บัพติศมาแห่งถ้วย”)
Real Baptism No. 2: The Baptism of the Cross (also called the Baptism of the Cup)
มารดาของยากอบและยอห์น (สะโลเม) ได้เข้ามาหาพระเยซู ทูลพระองค์ว่า เมื่อถึงสวรรค์แล้ว ขอให้บุตรชายทั้งสองได้รับสิทธิ์นั่งข้างๆพระเยซู(ถึงแม้ว่าเป็นฝ่ายมารดาเสนอ แต่ที่ไวยากรณ์กรีกบอกเราว่ายากอบและยอห์นก็เห็นพ้องกับนาง) สะโลเมกำลังกระทำผิดพลาดอย่างที่บิดามารดาหลายคนมักจะทำ ก็คือมักใหญ่ใฝ่สูงแทนบุตรของตน ซึ่งมักจะดันบุตรให้อยู่ในสถานการณ์หรือตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมสำหรับเขา ทำให้เขาต้องเครียดและสร้างปัญหาให้กับตัวเขาเองและคนรอบข้าง อย่างไรก็ตาม พระเยซูได้ตอบพวกเขาอย่างสุภาพ
“พระเยซูจึงตรัสแก่เขาว่า "ที่ท่านขอนั้นท่านไม่รู้หรอก ถ้วยซึ่งเราจะดื่มนั้นท่านจะดื่มได้หรือ และบัพติศมานั้นซึ่งเราจะรับ ท่านจะรับได้หรือ?” (มาระโก 10:38,39ก; มัทธิว 20:22)
การเปรียบเทียบของถ้วย (The analogy of the cup)
บางข้อในพระคัมภีร์เราได้อ่านถึง ถ้วยว่าเป็นสัญลักษณ์ของการพิพากษาลงโทษแก่ผู้ที่กระทำชั่ว
“พระองค์จะทรงเทบ่วงแร้วต่างๆ เพลิงและไฟกำมะถันใส่คนชั่ว ลมที่แผดเผาจะเป็นส่วนถ้วยของเขาเหล่านั้น” (สดุดี 11:6)
“พระเยโฮวาห์พระเจ้าแห่งอิสราเอลตรัสกับข้าพเจ้าดังนี้ว่า "จงเอาถ้วยน้ำองุ่นแห่งความพิโรธนี้ไปจากมือเรา และบังคับบรรดาประชาชาติซึ่งเราส่งเจ้าไปนั้นให้ดื่มจากถ้วยนั้น” (เยเรมีย์ 25:15)
ในอีกด้านหนึ่ง “ถ้วย” ซึ่งพูดถึงถ้วยที่พระคริสต์จะต้องดื่มนั้น เป็นสัญลักษณ์ของการพิพากษาลงโทษบาปที่พระคริสต์จะต้องรับแทนชาวโลกทั้งหลายที่ไม้กางเขน
“แล้วพระองค์เสด็จดำเนินไปอีกหน่อยหนึ่ง ก็ซบพระพักตร์ลงถึงดิน อธิษฐานว่า "โอ พระบิดาของข้าพระองค์ ถ้าเป็นได้ขอให้ถ้วยนี้เลื่อนพ้นไปจากข้าพระองค์เถิด แต่อย่างไรก็ดี อย่าให้เป็นตามใจปรารถนาของข้าพระองค์ แต่ให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์" (มัทธิว 26:39; เปรียบดูกับข้อที่ 42)
คำว่า “ถ้วย” ในข้อข้างบนนี้หมายถึง การที่พระบิดาทรงนำบาปของมนุษย์ทั้งหมดเอาไว้ที่พระกายของพระเยซูคริสต์ (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “judicial imputation of all man’s sins to Jesus Christ on the Cross.” พระเยซูคริสต์ได้รับบัพติศมา (ได้เข้าส่วน) กับบาปส่วนตัวของพวกเรา และรับการพิพากษาลงโทษสำหรับบาปเหล่านั้น (2 โครินธ์ 5:21; 1 เปโตร 2:24)
“เรามาเพื่อจะทิ้งไฟลงบนแผ่นดินโลก [ตรัสถึง “บัพติศมาด้วยไฟ” ซึ่งพระองค์จะทรงกระทำตอนจบ 7 ปีแห่งการทนทุกข์เวทนา”] และเราจะปรารถนาอะไรเล่า ถ้าหากไฟนั้นได้ติดขึ้นแล้ว เราจะต้องรับบัพติศมาอย่างหนึ่ง เราเป็นทุกข์ [ภาษากรีกใช้คำว่า “συνέχω / sunergo” ซึ่งมีความหมายว่า “ถูกบังคับไม่เขวจากเป้าหมาย”] มากจนกว่าจะสำเร็จ” (ลูกา 12:49, 50)
ในข้อนี้ ผู้ที่แปลพระคัมภีร์ฉบับภาษาไทย (ซึ่งเลือกทำตามผู้แปลฉบับภาษาอังกฤษ) ได้ทับศัพท์ภาษากรีก คือ เขียนตามการออกเสียงคำกรีกมาใช้ เหมือนทำกับชื่อคน หรือชื่อเมือง และอื่นๆ จริงๆ แล้วคำว่า “บัพติศมา” ควร แปล ความหมายของคำตามบริบท ซึ่งมีความหมายว่า “ให้เข้าส่วนกับ” (ภาษาอังกฤษ “to be identified with” หรือ “to be imputed with”, ให้ผู้อ่านเข้าใจว่าพระเยซูกำลังตรัสถึงการที่พระองค์จะต้องได้รับการเข้าส่วนกับบาปของโลก (“ให้เป็นความบาป” (2 โครินธ์ 5:20)) โดยพระบิดาจะนำบาปทุกประการใส่ไว้ที่พระเยซูคริสต์
พระเยซูยังตรัสกับยากอบและยอห์นเป็นนัยว่า “ท่านทั้งสองสามารถรับบาปของโลก และได้รับการพิพากษาลงโทษสำหรับบาปเหล่านั้นหรือ?” แล้วสองพี่น้องตอบว่า “ใช่”! พระเยซูก็ได้ตรัสต่อว่า พวกเขาจะต้องได้ “รับบัพติศมา” แน่ แต่ตอนนี้พระองค์กำลังตรัสถึงการที่ผู้เชื่อสมัยยุคคริสตจักร (Church-age believers) ทุกคนจะได้ถูกนับว่าเข้าส่วนกับพระองค์ในการตายที่ไม้กางเขน ในการฝังศพ และในการเป็นขึ้นจากความตายของพระองค์ (ทั้งหมดนี้เรียกว่า ตำแหน่งในพระเยซูอย่างมีผลย้อนหลัง “retroactive positional truth” ซึ่งจะมีอธิบายเพิ่มเติมในบทต่อๆไป) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผลลัพธ์ที่เกิดจากการได้รับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ ณ เวลารอด
ในข้อต่อไป คำว่า “บัพติศมา” ได้ถูกเขียนถึงสามครั้งในข้อเดียวในต้นฉบับภาษากรีก (ฉบับภาษาไทยเขียนเพียงแค่สองครั้ง ซึ่งผิดกับหลักการแปลพระคัมภีร์อย่างรุนแรง เพราะนักแปลควรแปลคำสำคัญคำต่อคำ)
“พระเยซูจึงตรัสแก่เขาว่า "ถ้วยซึ่งเราดื่มท่านจะดื่มก็จริง และการเข้าส่วนนั้น [ในที่นี้คำว่า “บัพติศมา” เป็นคำนาม] ที่เราเข้าส่วน [“บัพติโซ” เป็นคำกริยา] พวกท่านก็จะได้เข้าส่วนด้วย [บัพติโซ เป็นคำกริยา]” (มาระโก 10:39ข)
“ท่านไม่รู้หรือว่า เราทั้งหลายที่ได้เข้าส่วน [ในที่นี้คำว่า “บัพติศมา” เป็นคำกริยา] ในพระเยซูคริสต์ ก็ได้เข้าส่วน [ “บัพติศมา” เป็นคำกริยา] ในความตายของพระองค์ เหตุฉะนั้นเราจึงถูกฝังไว้กับพระองค์แล้วโดยได้รับการเข้าส่วน [“บัพติศมา” เป็นคำนาม] ในความตายนั้น เหมือนกับที่พระคริสต์ได้ทรงถูกชุบให้เป็นขึ้นมาจากความตาย โดยเดชพระรัศมีของพระบิดาอย่างไร เราก็จะได้ดำเนินตามชีวิตใหม่ด้วยอย่างนั้น เพราะว่าถ้าเราเข้าร่วม [σύμφυτος / sumphutos ซึ่งมีความหมายตรงตัวอักษรว่า “ได้รับการปลูกด้วยกัน” เช่นเดียวกับเมล็ดพืชซึ่ง มีคำอธิบายเพิ่มเติ่มในหน้าต่อๆ ไป] กับพระองค์แล้วในการตายของพระองค์ เราก็จะเป็นขึ้นมาอย่างพระองค์ได้ทรงเป็นขึ้นมาจากความตายด้วย” (โรม 6:3-5)
“ [ในพระองค์นั้น ท่าน]... ...ได้ถูกฝังไว้กับพระองค์โดยเข้าส่วนกันกับพระองค์ [“บัพติศมา” เป็นคำนาม] ซึ่งท่านได้เป็นขึ้นมากับพระองค์ด้วย โดยความเชื่อในการกระทำของพระเจ้า ผู้ได้ทรงบันดาลให้พระองค์เป็นขึ้นมาจากความตาย” (โคโลสี 2:12)
ในฐานะเป็นผู้ที่ได้รับแบกบาปของเรา พระเยซูก็ได้ถูก “จุ่ม” ลงในบาปของเรา [imputed with our sins] และรับการพิพากษาลงโทษสำหรับบาปของเรา ซึ่งเป็นการทรงชำระค่าไถ่บาปของเรา ด้วยการนี้ พระองค์จึงได้ดื่มจากถ้วยแห่งการทนทุกข์เพื่อเรา
บัพติศมา “แท้” ประการที่ 3
บัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์
Real Baptism No. 3: The baptism [identification] of the Holy Spirit
บัพติศมาด้วยพระวิญญาณสุทธิ์เป็นสิ่งที่ผู้เชื่อทุกคนได้รับ ณ เวลาเชื่อในพระคริสต์ในฐานะเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของตน เป็นการที่พระองค์ได้นำผู้เชื่อคนนั้นเข้าส่วนในพระคริสต์ และพระกายของพระองค์ (1 โครินธ์ 12:13; กาลาเทีย 3:26-28; โคโลสี 1:18; 2:12).
“เพราะเหตุว่า ทุกคนในพวกท่านที่เข้าร่วม [ในที่นี้คำว่า “บัพติศมา” เป็นคำกริยา] ในพระคริสต์แล้ว ก็ได้สวมชีวิตพระคริสต์ จะไม่เป็นยิวหรือกรีก จะไม่เป็นทาสหรือไทย จะไม่เป็นชายหรือหญิง เพราะว่าท่านทั้งหลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในพระเยซูคริสต์” (กาลาเทีย 3:27-28)
การรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่ใช่ประสบการณ์ส่วนตัวที่เราจะรู้สึกหรือสัมผัสได้ แต่เป็น 1 ใน 40 สิ่งที่พระเจ้าทรงประทานให้ผู้เชื่อ ณ เวลารอด 1 โครินธ์ 12:13 ได้อธิบายถึงกลศาสตร์ของบัพติศมานี้ว่า
“โดยวิญญาณเดียว [พระวิญญาณบริสุทธิ์] เราทุกคนได้ถูกนำให้เข้าส่วน [“บัพติโซ” เขียนเป็นกรรมวาจก] ในกายอันเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นพวกยิวหรือพวกต่างชาติ เป็นทาสหรือไท ทุกคนได้ดื่มแล้วจากวิญญาณเดียว [“...and all have been made to drink of one spirit”]” (1 โครินธ์ 12:13)
การบัพติศมานี้ คือ พระวิญญาณบริสุทธิ์นำเราให้เข้าส่วนกับพระเยซูคริสต์ชั่วนิรันดร์ คำสำคัญในข้อนี้คือ คำว่า εβαπτισθημεν (ebaptisthemen/ อี-บัพติศ-เธ-เมณ) ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำว่า βαπτίζω (บัพติโซ) ในข้อนี้ คำกริยานี้มีรูปแบบไวยากรณ์ Verb: Aorist / Passive / Indicative / First person plural ซึ่งมีความหมายดังนี้ คือ
-
Aorist tense: ให้ผู้อ่านเข้าใจว่านี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งเดียว ในช่วงเวลาเดียว (ซึ่งเราต้องสรุปจากการรวมหลักคำสอนทั้งหลายเกี่ยวกับความรอด ทรัพยากรฝ่ายวิญญาณ และเรื่องบัพติศมาข้ออื่นๆ ว่าช่วงเวลาเดียวนั้นต้องหมายถึง เวลาที่คนเชื่อในพระคริสต์เป็นครั้งแรก)
-
Passive Voice: (กรรมวาจก) หมายความว่า ผู้ที่เชื่อในพระเยซูคริสต์ได้รับการกระทำนี้ เราไม่สามารถกระทำให้ตัวเราเองเข้าส่วนในพระคริสต์ แต่พระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นผู้ซึ่งนำเราให้ “เข้าส่วน” (“รับบัพติศมา”) ในพระองค์
-
Indicative mood: (มาลาบ่งบอก) ซึ่งให้ผู้อ่านรู้ว่าข้อมูลนั้นเป็นความจริงที่เกิดขึ้นจริง (ไม่ใช่เหตุการณ์สมมุติ, ข้อเสนอ, ข้อบังคับ หรือ ความเป็นไปได้ เป็นต้น)
-
First person plural: (เขียนเป็นพหูพจน์ บุคคลที่หนึ่ง) “เรา” ซึ่งให้ผู้อ่านเข้าใจว่าผู้เชื่อทุกคนได้มีส่วนกับการบัพติศมานั้น
บัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นวิธีการสร้างพระราชวงศ์ของพระเจ้า
คำว่า “คริสต์” มาจากคำกรีกว่า “Χριστός” (Christos) ตรงกับคำว่า “เมสสิยาห์” (ภาษาฮีบรู משׁיח “Mashiyach” / ภาษาอังกฤษ “Messiah”) คำนี้มีความหมายว่า “กษัตริย์ที่ได้รับการเจิม” (ซึ่งมาจากรากศัพท์คำฮีบรูว่า מָשַׁח (mashach) ที่หมายถึง “ทาน้ำมัน” “ราดน้ำมัน” และ “เจิมด้วยน้ำมัน”) นอกจากการเป็นกษัตริย์นิรันดร์ของอิสราเอลแล้ว (ในพระนามว่า “บุตรแห่งดาวิด”) พระองค์ยังทรงฐานะเป็นกษัตริย์ในอีกสองตำแหน่ง หรือสองราชวงศ์ก็ว่าได้ ได้แก่ “พระบุตรของพระเจ้า” และ “กษัตริย์เหนือกษัตริย์”