top of page

The Institute of Bible Doctrine

สถาบันหลักคำสอนพระคัมภีร์
สำหรับผู้ที่สนใจในพระคำของพระเจ้า

หลักคำสอนการบัพติศมา 7 รูปแบบ

(The Doctrine of the Seven Baptisms)

ฮีบรู 6:1-2  “เหตุฉะนั้นให้เราละคำสอนพื้นฐานเกี่ยวกับพระคริสต์ไว้ และให้เราก้าวหน้าไปถึงความบริบูรณ์ อย่าเอาสิ่งเหล่านี้มาวางเป็นรากอีกเลย คือให้เปลี่ยนความคิด [คำว่า μετάνοια / metanoia] ในเรื่องการกระทำที่ตายแล้ว และความเชื่อในพระเจ้า และหลักคำสอนเรื่องบัพติศมา และในการวางมือ และการเป็นขึ้นมาจากตาย และการพิพากษาลงโทษเป็นนิตย์นั้น”

คำนำ

คำว่า “บัพติศมา” ไม่ได้มาจากภาษาอังกฤษ แต่เป็นคำในภาษากรีก ซึ่งในรูปแบบคำกริยาแปลว่า “เข้าส่วน” “มีส่วน” “ให้เข้ากัน” “กลายเป็นสิ่งเดียวกัน” เป็นต้น (ภาษาอังกฤษมีคำว่า “to identify” ซึ่งอาจจะตรงกับความหมายของคำว่า บัพติศมา มากกว่าคำใดๆ ในภาษาไทย) คำกริยาคือ βαπτίζω (อ่านว่า บัพติโซ) ได้ปรากฏ 80 ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ ส่วนคำนาม βάπτισμα (“บัพติสมา”) ได้ปรากฏมากกว่า 20 ครั้ง เกือบทุกครั้งที่คำว่า “บัพติโซ” หรือ “บัพติสมา” ได้ปรากฏในพระคัมภีร์ ก็ต้องหมายถึงหนึ่งใน 7 รูปแบบบัพติศมา ซึ่งสามารถแบ่งเป็นสองประเภท ได้แก่ Real Baptisms (หรือ Actual Identification ) ซึ่งต่อจากนี้จะเรียกว่า “บัพติศมาแท้” และ Ritual Baptism (หรือ Representative Identification) ซึ่งในการแปลนี้จะเรียกว่า “บัพติศมาอันเป็นพิธีกรรม”

 

1.Real Identifications (Baptisms)/บัพติศมาแท้

 (ซึ่งมีผู้หนึ่งได้เข้าส่วนกับอีกผู้หนึ่งหรืออีกสิ่งหนึ่ง) ได้เกิดขึ้นตามลำดับเวลาประวัติศาสตร์ดังต่อไปนี้

 

  1. บัพติศมาที่นำชนชาติอิราเอลได้เข้าส่วนในโมเสส (และ “ในเมฆ และในทะเล”) (1 โครินธ์ 10:2)

  2. บัพติศมาแห่งไม้กางเขน (มัทธิว 20:22)

  3. การรับบัพติศมาจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ (1 โครินธ์ 12:13)

  4. บัพติศมาด้วยไฟ (มัทธิว 3:11)

 

2. Ritual Identifications (Baptism) (บัพติศมาอันเป็นพิธีกรรม)

บัพติศมาอันเป็นพิธีกรรมคือ พิธีกรรมซึ่งใช้เป็นการสอน การสำแดง หรือการระลึกถึงบัพติศมาแท้ดังกล่าวนั้น

  1. ยอห์นประกอบพิธีบัพติศมาในน้ำ ให้แก่ผู้เชื่อในพระคริสต์ (มัทธิว 3:1-10)

  2. ยอห์นประกอบพิธีบัพติศมาในน้ำ ให้แก่พระเยซูคริสต์ (มัทธิว 3:13-17)

  3. อัครสาวกและผู้นำคริสตจักรประกอบพิธีบัพติศมาในน้ำ ให้แก่ผู้เชื่อในพระคริสต์ (กิจการ 2:38)

 

การจำกัดความของคำว่า “บัพติศมา”

 

จะเข้าใจความหมายของคำว่า βάπτισμα (บัพติศมา) ก็ต้องดูที่รากศัพท์ก่อน ซึ่งคือคำว่า βάπτω (บัพโต) มีความหมายว่า “จุ่ม” เช่น กวีกรีกโบราณชื่อ โฮเมอร์ ได้นำคำกริยาว่า “บัพโต” มาใช้ในการพรรณนางานของช่างตีเหล็ก เขียนว่า

 

 “(ช่างตีเหล็ก) ดึงเหล็กแท่งนั้นจากเตาไฟร้อนผ่าวแดงๆ แล้ว จุ่ม [บัพโต] ลงมาในน้ำทันที น้ำจึ่งให้ไฟดับนิรันดร์” (Homeric Allegories, ch. 9.)

 

ในพระคัมภีร์เดิมฉบับแปลเป็นภาษากรีก (ที่เรียกว่า “Septuagint” หรือ “LXX”) โยนาธานได้ “เอาปลายไม้ที่ถืออยู่แหย่ (ภาษากรีก “บัพโต”) ที่รังผึ้ง” (1 ซามูเอล 14:27) และในลูกา 16:24 เศรษฐีที่กำลังถูกทรมานในแดนคนตายได้วิงวอนให้อับราฮัมบอกลาซารัส “มาเพื่อจะเอาปลายนิ้วจุ่ม [บัพโต] ในน้ำ แล้วมาแตะลิ้นของข้าพเจ้าให้เย็น”

ในยุคโบราณ คำว่า “บัพติศมา” และ “บัพติโซ” มักจะถูกนำมาใช้ในการอุปมาและคำเปรียบเทียบ ในตัวอย่างด้านล่าง เราจะเห็นว่านักเขียนสมัยโบราณ ได้ใช้คำว่า บัพติศมา และ บัพติโซ อย่างไร ในกลุ่มตัวอย่างแรก คำที่เหมาะสมที่สุดในการแปลคำว่า บัพติโซ คือ คำว่า “ท่วมท้น”

 

  • “ความนิทราได้ ท่วมท้น [บัพติโซ] เขา  โอ้! เพื่อนบ้านของความมรณามาเยือนแล้ว!” (Evenus of Paros, Epigram XV)

 

  • “และเมื่อเขา ถูกท่วมท้น [บัพติโซ] ด้วยโทสะ เขาจมลึกลงไป  ยังคงปรารถนาที่จะเป็นอิสระ แต่กลับเกลียดแค้นสิ่งที่เคยรัก” (Achilles Tatius, book VI. ch. 19)

 

  • “ส่วนแบ่งก้อนที่สอง พระราชาได้โปรดนำเข้ากองกลาง...เนื่องด้วยเงินนี้มีมากพอ ราษฎรจึงไม่จำเป็นที่จะ ถูกท่วมท้น [บัพติโซ]  ด้วยภาษีมากมาย” (Diodorus, the Sicilian, Historical Library, I. ch. 73)

 

  •  “เพราะรู้ว่าเขาเหลวไหลและเสเพล และ ท่วม (บัพติโซ) ด้วยหนี้ตั้ง 50 ล้าน” (Plutarch, Life of Galba, XXI.)

 

บัพติศมา หมายถึง “ได้เข้าส่วนกัน” หรือ “เกี่ยวข้องกัน”

 

วีรบุรุษและนักเขียนประวัติศาสตร์สมัยกรีกโบราณชื่อ Xenophon ได้บันทึกถึงการทำสนธิสัญญาระหว่างสองฝ่าย ซึ่งพวกเขานั้นแสดงถึงความเป็นหนึ่งเดียว โดยได้นำดาบและหอกมาทำ “บัพติศมา” ในเลือดสัตว์

“หลังจากนั้น เมื่อทั้งสองฝ่ายได้หยุดนิ่งและหันหน้าเข้าหากัน เหล่าพลเอกและร้อยเอกได้พบกับอาริอัส สองฝ่ายนั้น คือนายทหารกรีกและอาริอัส รวมถึงนายทหารยศสูงของเขา ได้สาบานว่าจะไม่ทรยศกัน... ...คำสาบานนี้เขาได้ผนึกไว้ด้วยการบวงสรวงวัวตัวผู้ หมูตัวผู้ และแกะตัวผู้ โดยใช้โล่เป็นแท่นบูชาและภาชนะเก็บเลือด เสร็จแล้วฝ่ายกรีกนำดาบเล่มหนึ่ง ส่วนฝ่ายคนป่า (ฝ่ายอาริอัส) ก็นำหอกด้ามหนึ่งมา จุ่ม (บัพติโซ) ในเลือดนั้น...” (Xenophon: The Persian Expedition, Book 2, Chap. 2, section 8-9).

 

บัพติศมา (ที่แท้จริง ไม่ใช่พิธี) ทำให้มีการเปลี่ยนแปลง

 

คำกริยา “บัพติโซ” ยังได้พบในอุตสาหกรรมย้อมผ้า ด้วยว่าพื้นผ้าสีธรรมดาจะรับ “บัพติโซ” ในหม้อสีย้อม เมื่อชูขึ้นมาอีกครั้งก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว การที่มันได้ “เข้าส่วนกับ” (identified with) สีย้อมผ้านั้นทำให้ผ้ากลายเป็น “สิ่งใหม่” ผ้าสีแดงจะออกมาจากสีย้อมสีแดง ผ้าสีน้ำเงินก็จะออกมาจากสีย้อมสีน้ำเงิน เพราะการ “รับบัพติศมา” นั้นผ้าสีธรรมดาได้รับการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร

 

“แล้วข้าพเจ้าได้เห็นสวรรค์เปิดออก และดูเถิด มีม้าขาวตัวหนึ่ง พระองค์ผู้ทรงม้านั้นมีพระนามว่า 'สัตย์ซื่อและสัตย์จริง' พระองค์ทรงพิพากษาและกระทำสงครามด้วยความชอบธรรม พระเนตรของพระองค์ดุจเปลวไฟ และบนพระเศียรของพระองค์มีมงกุฎหลายอัน และพระองค์ทรงมีพระนามจารึกไว้ซึ่งไม่มีผู้ใดรู้จักเลย นอกจากพระองค์เอง พระองค์ทรงฉลอง [ใส่เสื้อยาว] พระองค์ที่จุ่ม [βάπτω/บัพโต] เลือด และพระนามที่เรียกพระองค์นั้นคือ "พระวาทะของพระเจ้า" ” (วิวรณ์ 19:11-13)

      ข้อพระคัมภีร์สามข้อนี้กำลังเผยถึงเหตุการณ์ในอนาคต ที่พระเยซูจะทำสงครามอันชอบธรรมกับศัตรูของอิสราเอล (เป็นการจบท้าย 7 ปีแห่งการทนทุกข์เวทนาและจุดเริ่มต้นยุคพันปีของพระคริสต์) ทั้ง “ม้าสีขาว”, “พระเนตรซึ่งดุจเปลวไฟ”, “มงกุฎหลายอัน” และ “เสื้อยาวที่จุ่มเลือด” เป็นสัญลักษณ์ถึงจุดประสงค์อันรุนแรงและชอบธรรมของพระองค์ (ภาษาอังกฤษเรียกว่า “righteous violence”) ในฐานะที่พระองค์ทรงรับตำแหนงและพระนามว่า “พระเยโฮวาห์จอมโยธา” และ “พระเจ้าแห่งกองทัพอิสราเอล”  (1 ซามูเอล 17:45; สดุดี 59:5; อิสยาห์ 13:9-11; 29:6; 63:2,3; มาลาคี 4:1:3) 

      ตัวอย่างอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้เราเข้าใจชัดเจนขึ้นถึงความหมายของคำว่า “บัพติโซ” ได้มาจากนักเขียนชาวกรีกชื่อ Nicander (มีชีวิตอยู่ราวๆ 200 ปี ก่อนคริสตกาล) ซึ่งเขียนสูตรอาหารทำผักดอง การเขียนสูตรนั้นช่วยเรามากเพราะว่าใช้ทั้งสองคำคือ “บัพโต” และ “บัพติโซ” Nicander เขียนว่าในการทำผักดอง ผักควรถูกนำมา “บัพโต” ในน้ำเดือด ก่อนที่จะได้รับ “บัพติโซ” ในน้ำส้มสายชู คำกริยาทั้งสองนั้นพูดถึงการจมลงในน้ำ แต่ว่ามันต่างกันที่ครั้งแรกเป็นแค่เวลาสั้นๆ (การเข้าส่วนกันแค่ชั่วคราว) แต่ครั้งที่สองนั้น ผักได้รับบัพติศมาอย่างถาวร ผลลัพธ์คือ ผักนั้นได้รับการเปลี่ยนแปลงที่ถาวรคือ  กลายเป็นผักดอง 

       เพราะฉะนั้น จากตัวอย่างดังกล่าว (อย่างเช่น ผ้าธรรมดากลายเป็นผ้าสี ผักสดกลายเป็นผักดอง) เราสามารถเห็นคำว่า “บัพติโซ” และ “บัพติศมา” มีความหมายว่า “สิ่งหนึ่งถูกนำมาให้เข้าส่วนกับอีกสิ่งหนึ่ง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ถาวร”

บัพติศมา “แท้” ประการที่ 1

ชนชาติอิสราเอลได้รับบัพติศมา เข้าส่วนในโมเสส (1 โครินธ์ 10:1-2)

Real Baptism No. 1: The baptism (identification) of Israel into Moses (1 Cor. 10:1-2)

 “พี่น้องทั้งหลาย ยิ่งกว่านี้ข้าพเจ้าอยากให้ท่านทั้งหลายเข้าใจว่าบรรพบุรุษของเราทั้งสิ้นได้อยู่ใต้เมฆ และได้ผ่านทะเลไปทุกคน และทุกคนได้รับบัพติศมาเข้าส่วนในโมเสส ในเมฆและในทะเล” (1 โครินธ์ 10:1-2 แปลตรงจากต้นฉบับภาษากรีก)

 

ในข้อพระคัมภีร์สองข้อนี้ อัครทูตเปาโลกำลังเขียนถึงชาวยิวรุ่นที่อพยพออกมาจากอียิปต์ (“บรรพบุรุษของเรา”) ซึ่งทุกคนนั้นได้รับบัพติศมา (คือ “เข้าส่วนในโมเสส” / “identified with Moses”) และโมเสสนั้นก็ได้เข้าส่วนในเมฆ และในทะเลอีกที โมเสสเป็นผู้นำที่พระเจ้าทรงกำหนดและแต่งตั้งให้ และเป็นผู้เดียวที่กระทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้า ณ ทะเลแดงนั้น ชนชาติอิสราเอลจึงต้องได้เข้าส่วนกับโมเสสเพื่อให้อยู่ในพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับชีวิตและแผนการประวัติศาสตร์ที่พระองค์ทรงมีต่อพวกเขา

 

การใช้วาจกกลาง

 

ในการสอนของนักภาษาศาสตร์กรีก George G. Kline ที่มีหัวข้อของเรื่องว่า “The Middle Voice in the New Testament” (“การใช้วาจกกลางในพระคัมภีร์ใหม่”) เขาสรุปการสอนเกี่ยวกับสามวาจกในภาษากรีกโดยเขียนว่า “กรรตุวาจก (active voice) แสดงถึงการที่ประธานของประโยคเป็นผู้กระทำ กรรมวาจก (passive voice) แสดงถึงการที่ประธานของประโยคเป็นผู้ถูกกระทำ, ไม่ใช่ผู้กระทำ อย่างไรก็ตาม วาจกกลาง (middle voice) แสดงถึงการที่ประธานของประโยคได้เกี่ยวข้องกับการกระทำเป็นกรณีพิเศษ หรือจะได้รับผลประโยชน์จากการกระทำนั้น   ใน1 โครินธ์ 10:2 ซึ่งเขียนด้วยวาจกกลาง(middle voice) มีหมายความว่า พวกอพยพได้รับผลประโยชน์จากการรับบัพติศมาเข้าส่วนในโมเสส

 

มีแต่โมเสสที่วางใจในพระเจ้าและวางใจในพระสัญญาที่พระองค์ทรงมีต่ออิสราเอล

 

ทุกคนที่ได้อพยพออกจากอียิปต์ (รวมชาวยิวและคนต่างชาติ) ได้กบฏต่อพระเจ้า ยกเว้นก็แต่เพียงโมเสส(ขอผู้อ่านได้อ่านอพยพ 14:10-31) 

 

“บรรพบุรุษของข้าพระองค์ทั้งหลายเมื่อพวกเขาอยู่ในอียิปต์ พวกเขามิได้เข้าใจการมหัศจรรย์ของพระองค์ พวกเขามิได้ระลึกถึงความเมตตาอันอุดมของพระองค์ แต่ได้กบฏต่อพระองค์ที่ทะเล ที่ทะเลแดง” (สดุดี 106:7)

 

โมเสสเป็นผู้เดียวที่ประยุกต์พระคำของพระเจ้ามาใช้ (the Faith-rest Drill) ซึ่งเป็นเหตุทำให้พระเจ้าช่วยกู้พวกเขาโดยการแหวกทะเลแดง อะไรที่ทำให้โมเสสยังคิดและดำเนินชีวิตด้วยความชื่อภายใต้ความกดดันที่แสนหนัก? คำตอบคือ เขาปักใจไว้กับพระผู้เป็นเจ้าเสมอ! (He had “Occupation with Christ”).

 

 “โดยความเชื่อ ท่าน [โมเสส] ได้ออกจากประเทศอียิปต์ โดยมิได้เกรงกลัวความกริ้วของกษัตริย์ [ฟาโรห์] เพราะท่านยอมทนอยู่เหมือนประหนึ่งได้เห็นพระองค์ผู้ไม่ทรงปรากฏแก่ตา” (ฮีบรู 11:27) 

 

 “โดยความเชื่อ [ของโมเสสเพียงผู้เดียว] พวกเขา [ทั้งชนชาติอิสราเอลและคนต่างชาติ] ได้ข้ามทะเลแดงเหมือนกับว่าเดินบนดินแห้ง แต่เมื่อพวกอียิปต์ได้ลองเดินข้ามดูบ้าง ก็จมน้ำตายหมด” (ฮีบรู 11:29)

 

รับบัพติศมาเข้าส่วนกับเมฆ และทะเล

 

“เมฆ” พูดถึงพระผู้เป็นเจ้า และการทรงนำของพระองค์ เมฆคือพระเยซูคริสต์ (1 โครินธ์ 10:2-4) ในรูปร่างของเมฆนั้น พระเยซูได้นำพวกเขาข้ามทะเลแดง ซึ่งพวกเขาได้กระทำตาม

“ทะเล” ซึ่งพระเจ้าทรงแหวกออก เล็งถึงฤทธิ์อำนาจของพระองค์ คือพวกเขาได้เดินข้ามไป “เหมือนเดินในดินแห้ง” ก่อนที่พระเจ้าทรงทำลายกษัตริย์และกองทัพของเขา ชื่อเสียงของพระเจ้าได้แผ่ไปทั่วโลกเพราะสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำที่ทะเลแดงนั้น (โยชูวา 2:10) แม้กระทั่งจนทุกวันนี้ ใครๆ ก็เคยได้ยินเรื่องนี้ (เช่น ผ่านการเรียนพระคัมภีร์  การอ่านหนังสือ หรือ ดูหนัง) ซึ่งทำให้เขารู้ว่าพระเจ้าทรงปกป้องชนชาติของพระองค์ที่ทะเลแดงนั้น

 

การสรุป

 

ในการที่รุ่นอพยพนั้นได้รับบัพติศมาเข้าส่วนในโมเสส คนของพระเจ้าไม่ได้เปียกน้ำเลย! และเพราะการที่พระเจ้าให้พวกเขาได้ “เข้าส่วน” ในโมเสส พวกเขาจึงสามารถข้ามทะเลแดงแล้วพ้นจากเงื้อมมือของฟาโรห์

บัพติศมา “แท้” ประการที่ 2

บัพติศมาแห่งไม้กางเขน (หรืออาจเรียก “บัพติศมาแห่งถ้วย”)

Real Baptism No. 2: The Baptism of the Cross (also called the Baptism of the Cup)

 

มารดาของยากอบและยอห์น (สะโลเม) ได้เข้ามาหาพระเยซู ทูลพระองค์ว่า เมื่อถึงสวรรค์แล้ว ขอให้บุตรชายทั้งสองได้รับสิทธิ์นั่งข้างๆพระเยซู(ถึงแม้ว่าเป็นฝ่ายมารดาเสนอ แต่ที่ไวยากรณ์กรีกบอกเราว่ายากอบและยอห์นก็เห็นพ้องกับนาง) สะโลเมกำลังกระทำผิดพลาดอย่างที่บิดามารดาหลายคนมักจะทำ ก็คือมักใหญ่ใฝ่สูงแทนบุตรของตน ซึ่งมักจะดันบุตรให้อยู่ในสถานการณ์หรือตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมสำหรับเขา ทำให้เขาต้องเครียดและสร้างปัญหาให้กับตัวเขาเองและคนรอบข้าง อย่างไรก็ตาม พระเยซูได้ตอบพวกเขาอย่างสุภาพ

 

 “พระเยซูจึงตรัสแก่เขาว่า "ที่ท่านขอนั้นท่านไม่รู้หรอก ถ้วยซึ่งเราจะดื่มนั้นท่านจะดื่มได้หรือ และบัพติศมานั้นซึ่งเราจะรับ ท่านจะรับได้หรือ?” (มาระโก 10:38,39ก; มัทธิว 20:22)

การเปรียบเทียบของถ้วย (The analogy of the cup)

 

บางข้อในพระคัมภีร์เราได้อ่านถึง ถ้วยว่าเป็นสัญลักษณ์ของการพิพากษาลงโทษแก่ผู้ที่กระทำชั่ว

 

“พระองค์จะทรงเทบ่วงแร้วต่างๆ เพลิงและไฟกำมะถันใส่คนชั่ว ลมที่แผดเผาจะเป็นส่วนถ้วยของเขาเหล่านั้น” (สดุดี 11:6)

 

“พระเยโฮวาห์พระเจ้าแห่งอิสราเอลตรัสกับข้าพเจ้าดังนี้ว่า "จงเอาถ้วยน้ำองุ่นแห่งความพิโรธนี้ไปจากมือเรา และบังคับบรรดาประชาชาติซึ่งเราส่งเจ้าไปนั้นให้ดื่มจากถ้วยนั้น” (เยเรมีย์ 25:15) 

 

ในอีกด้านหนึ่ง “ถ้วย” ซึ่งพูดถึงถ้วยที่พระคริสต์จะต้องดื่มนั้น เป็นสัญลักษณ์ของการพิพากษาลงโทษบาปที่พระคริสต์จะต้องรับแทนชาวโลกทั้งหลายที่ไม้กางเขน

 

“แล้วพระองค์เสด็จดำเนินไปอีกหน่อยหนึ่ง ก็ซบพระพักตร์ลงถึงดิน อธิษฐานว่า "โอ พระบิดาของข้าพระองค์ ถ้าเป็นได้ขอให้ถ้วยนี้เลื่อนพ้นไปจากข้าพระองค์เถิด แต่อย่างไรก็ดี อย่าให้เป็นตามใจปรารถนาของข้าพระองค์ แต่ให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์"  (มัทธิว 26:39; เปรียบดูกับข้อที่ 42)

 

คำว่า “ถ้วย” ในข้อข้างบนนี้หมายถึง การที่พระบิดาทรงนำบาปของมนุษย์ทั้งหมดเอาไว้ที่พระกายของพระเยซูคริสต์ (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “judicial imputation of all man’s sins to Jesus Christ on the Cross.” พระเยซูคริสต์ได้รับบัพติศมา (ได้เข้าส่วน) กับบาปส่วนตัวของพวกเรา และรับการพิพากษาลงโทษสำหรับบาปเหล่านั้น (2 โครินธ์ 5:21; 1 เปโตร 2:24)

 

“เรามาเพื่อจะทิ้งไฟลงบนแผ่นดินโลก [ตรัสถึง “บัพติศมาด้วยไฟ” ซึ่งพระองค์จะทรงกระทำตอนจบ 7 ปีแห่งการทนทุกข์เวทนา”] และเราจะปรารถนาอะไรเล่า ถ้าหากไฟนั้นได้ติดขึ้นแล้ว  เราจะต้องรับบัพติศมาอย่างหนึ่ง เราเป็นทุกข์ [ภาษากรีกใช้คำว่า “συνέχω / sunergo” ซึ่งมีความหมายว่า “ถูกบังคับไม่เขวจากเป้าหมาย”] มากจนกว่าจะสำเร็จ” (ลูกา 12:49, 50) 

 

      ในข้อนี้ ผู้ที่แปลพระคัมภีร์ฉบับภาษาไทย (ซึ่งเลือกทำตามผู้แปลฉบับภาษาอังกฤษ) ได้ทับศัพท์ภาษากรีก คือ เขียนตามการออกเสียงคำกรีกมาใช้ เหมือนทำกับชื่อคน หรือชื่อเมือง และอื่นๆ จริงๆ แล้วคำว่า “บัพติศมา” ควร แปล ความหมายของคำตามบริบท ซึ่งมีความหมายว่า “ให้เข้าส่วนกับ” (ภาษาอังกฤษ “to be identified with” หรือ “to be imputed with”, ให้ผู้อ่านเข้าใจว่าพระเยซูกำลังตรัสถึงการที่พระองค์จะต้องได้รับการเข้าส่วนกับบาปของโลก (“ให้เป็นความบาป” (2 โครินธ์ 5:20)) โดยพระบิดาจะนำบาปทุกประการใส่ไว้ที่พระเยซูคริสต์

      พระเยซูยังตรัสกับยากอบและยอห์นเป็นนัยว่า “ท่านทั้งสองสามารถรับบาปของโลก และได้รับการพิพากษาลงโทษสำหรับบาปเหล่านั้นหรือ?” แล้วสองพี่น้องตอบว่า “ใช่”! พระเยซูก็ได้ตรัสต่อว่า พวกเขาจะต้องได้ “รับบัพติศมา” แน่ แต่ตอนนี้พระองค์กำลังตรัสถึงการที่ผู้เชื่อสมัยยุคคริสตจักร (Church-age believers) ทุกคนจะได้ถูกนับว่าเข้าส่วนกับพระองค์ในการตายที่ไม้กางเขน ในการฝังศพ และในการเป็นขึ้นจากความตายของพระองค์ (ทั้งหมดนี้เรียกว่า ตำแหน่งในพระเยซูอย่างมีผลย้อนหลัง “retroactive positional truth” ซึ่งจะมีอธิบายเพิ่มเติมในบทต่อๆไป) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผลลัพธ์ที่เกิดจากการได้รับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ ณ เวลารอด

      ในข้อต่อไป คำว่า “บัพติศมา” ได้ถูกเขียนถึงสามครั้งในข้อเดียวในต้นฉบับภาษากรีก (ฉบับภาษาไทยเขียนเพียงแค่สองครั้ง ซึ่งผิดกับหลักการแปลพระคัมภีร์อย่างรุนแรง เพราะนักแปลควรแปลคำสำคัญคำต่อคำ)

 

“พระเยซูจึงตรัสแก่เขาว่า "ถ้วยซึ่งเราดื่มท่านจะดื่มก็จริง และการเข้าส่วนนั้น [ในที่นี้คำว่า 'บัพติศมา' เป็นคำนาม] ที่เราเข้าส่วน ['บัพติโซ' เป็นคำกริยา] พวกท่านก็จะได้เข้าส่วนด้วย [บัพติโซ เป็นคำกริยา]” (มาระโก 10:39ข)

 

“ท่านไม่รู้หรือว่า เราทั้งหลายที่ได้เข้าส่วน [ในที่นี้คำว่า 'บัพติศมา' เป็นคำกริยา] ในพระเยซูคริสต์ ก็ได้เข้าส่วน  [ 'บัพติศมา' เป็นคำกริยา] ในความตายของพระองค์ เหตุฉะนั้นเราจึงถูกฝังไว้กับพระองค์แล้วโดยได้รับการเข้าส่วน  ['บัพติศมา' เป็นคำนาม] ในความตายนั้น เหมือนกับที่พระคริสต์ได้ทรงถูกชุบให้เป็นขึ้นมาจากความตาย โดยเดชพระรัศมีของพระบิดาอย่างไร เราก็จะได้ดำเนินตามชีวิตใหม่ด้วยอย่างนั้น เพราะว่าถ้าเราเข้าร่วม [σύμφυτος / sumphutos ซึ่งมีความหมายตรงตัวอักษรว่า 'ได้รับการปลูกด้วยกัน' เช่นเดียวกับเมล็ดพืชซึ่ง มีคำอธิบายเพิ่มเติ่มในหน้าต่อๆ ไป] กับพระองค์แล้วในการตายของพระองค์ เราก็จะเป็นขึ้นมาอย่างพระองค์ได้ทรงเป็นขึ้นมาจากความตายด้วย” (โรม 6:3-5)

 

“ [ในพระองค์นั้น ท่าน]... ...ได้ถูกฝังไว้กับพระองค์โดยเข้าส่วนกันกับพระองค์ ['บัพติศมา' เป็นคำนาม] ซึ่งท่านได้เป็นขึ้นมากับพระองค์ด้วย โดยความเชื่อในการกระทำของพระเจ้า ผู้ได้ทรงบันดาลให้พระองค์เป็นขึ้นมาจากความตาย” (โคโลสี 2:12)

 

ในฐานะเป็นผู้ที่ได้รับแบกบาปของเรา พระเยซูก็ได้ถูก “จุ่ม” ลงในบาปของเรา [imputed with our sins] และรับการพิพากษาลงโทษสำหรับบาปของเรา ซึ่งเป็นการทรงชำระค่าไถ่บาปของเรา ด้วยการนี้ พระองค์จึงได้ดื่มจากถ้วยแห่งการทนทุกข์เพื่อเรา

 

 

บัพติศมา “แท้” ประการที่ 3

บัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์

Real Baptism No. 3: The baptism [identification] of the Holy Spirit

 

บัพติศมาด้วยพระวิญญาณสุทธิ์เป็นสิ่งที่ผู้เชื่อทุกคนได้รับ ณ เวลาเชื่อในพระคริสต์ในฐานะเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของตน เป็นการที่พระองค์ได้นำผู้เชื่อคนนั้นเข้าส่วนในพระคริสต์ และพระกายของพระองค์ (1 โครินธ์ 12:13; กาลาเทีย 3:26-28; โคโลสี 1:18; 2:12).

 

“เพราะเหตุว่า ทุกคนในพวกท่านที่เข้าร่วม [ในที่นี้คำว่า 'บัพติศมา' เป็นคำกริยา] ในพระคริสต์แล้ว ก็ได้สวมชีวิตพระคริสต์ จะไม่เป็นยิวหรือกรีก จะไม่เป็นทาสหรือไทย จะไม่เป็นชายหรือหญิง เพราะว่าท่านทั้งหลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในพระเยซูคริสต์” (กาลาเทีย 3:27-28)

 

การรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่ใช่ประสบการณ์ส่วนตัวที่เราจะรู้สึกหรือสัมผัสได้ แต่เป็น 1 ใน 40 สิ่งที่พระเจ้าทรงประทานให้ผู้เชื่อ ณ เวลารอด 1 โครินธ์ 12:13 ได้อธิบายถึงกลศาสตร์ของบัพติศมานี้ว่า

 

“โดยวิญญาณเดียว [พระวิญญาณบริสุทธิ์] เราทุกคนได้ถูกนำให้เข้าส่วน ['บัพติโซ' เขียนเป็นกรรมวาจก] ในกายอันเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นพวกยิวหรือพวกต่างชาติ เป็นทาสหรือไท ทุกคนได้ดื่มแล้วจากวิญญาณเดียว [“...and all have been made to drink of one spirit”]” (1 โครินธ์ 12:13)

 

การบัพติศมานี้ คือ พระวิญญาณบริสุทธิ์นำเราให้เข้าส่วนกับพระเยซูคริสต์ชั่วนิรันดร์ คำสำคัญในข้อนี้คือ คำว่า εβαπτισθημεν (ebaptisthemen/ อี-บัพติศ-เธ-เมณ) ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำว่า βαπτίζω (บัพติโซ) ในข้อนี้ คำกริยานี้มีรูปแบบไวยากรณ์ Verb: Aorist / Passive / Indicative / First person plural ซึ่งมีความหมายดังนี้ คือ

  1. Aorist tense: ให้ผู้อ่านเข้าใจว่านี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งเดียว ในช่วงเวลาเดียว  (ซึ่งเราต้องสรุปจากการรวมหลักคำสอนทั้งหลายเกี่ยวกับความรอด ทรัพยากรฝ่ายวิญญาณ และเรื่องบัพติศมาข้ออื่นๆ ว่าช่วงเวลาเดียวนั้นต้องหมายถึง เวลาที่คนเชื่อในพระคริสต์เป็นครั้งแรก)

  2. Passive Voice: (กรรมวาจก) หมายความว่า ผู้ที่เชื่อในพระเยซูคริสต์ได้รับการกระทำนี้ เราไม่สามารถกระทำให้ตัวเราเองเข้าส่วนในพระคริสต์ แต่พระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นผู้ซึ่งนำเราให้ “เข้าส่วน” (“รับบัพติศมา”) ในพระองค์

  3. Indicative mood: (มาลาบ่งบอก) ซึ่งให้ผู้อ่านรู้ว่าข้อมูลนั้นเป็นความจริงที่เกิดขึ้นจริง (ไม่ใช่เหตุการณ์สมมุติ, ข้อเสนอ, ข้อบังคับ หรือ ความเป็นไปได้ เป็นต้น)

  4. First person plural: (เขียนเป็นพหูพจน์ บุคคลที่หนึ่ง) “เรา” ซึ่งให้ผู้อ่านเข้าใจว่าผู้เชื่อทุกคนได้มีส่วนกับการบัพติศมานั้น

 

บัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นวิธีการสร้างพระราชวงศ์ของพระเจ้า

คำว่า “คริสต์” มาจากคำกรีกว่า “Χριστός” (Christos) ตรงกับคำว่า “เมสสิยาห์” (ภาษาฮีบรู משׁיח “Mashiyach” / ภาษาอังกฤษ “Messiah”) คำนี้มีความหมายว่า “กษัตริย์ที่ได้รับการเจิม” (ซึ่งมาจากรากศัพท์คำฮีบรูว่า מָשַׁח   (mashach) ที่หมายถึง “ทาน้ำมัน” “ราดน้ำมัน” และ “เจิมด้วยน้ำมัน”) นอกจากการเป็นกษัตริย์นิรันดร์ของอิสราเอลแล้ว (ในพระนามว่า “บุตรแห่งดาวิด”) พระองค์ยังทรงฐานะเป็นกษัตริย์ในอีกสองตำแหน่ง หรือสองราชวงศ์ก็ว่าได้  ได้แก่ “พระบุตรของพระเจ้า” และ “กษัตริย์เหนือกษัตริย์”

เนื่องจากว่าพระเยซูทรงเป็นกษัตริย์ และเราได้เข้าส่วนในพระองค์ผ่านการรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ นั่นหมายความว่า ผู้เชื่อแห่งยุคคริสตจักรเป็นสมาชิกในพระราชวงศ์ของพระเจ้าด้วย

 

“แต่ท่านทั้งหลายเป็นชาติที่พระองค์ทรงเลือกไว้แล้ว เป็นพวกปุโรหิตหลวง [βασίλειος / basileious (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “royal”) เป็นคำคุณศัพท์ ที่ต้องแปลว่า “มีสถานะในราชวงศ์ของพระเจ้า] เป็นประชาชาติที่บริสุทธิ์ เป็นชนชาติของพระองค์โดยเฉพาะ เพื่อท่านทั้งหลายจะได้สำแดงพระบารมีของพระองค์ ผู้ได้ทรงเรียกท่านทั้งหลายให้ออกมาจากความมืด เข้าไปสู่ความสว่างอันมหัศจรรย์ของพระองค์” (1 เปโตร 2:9)

 

พระกายของพระคริสต์

 

พระกายของพระคริสต์ หมายถึง ผู้เชื่อทุกคนในทุกมุมโลก ตั้งแต่วันเพ็นเทคอสต์ (ต้นเดือนมิถุนายน ราวๆ ปี ค.ศ.30) ซึ่งเป็นวันแรกของยุคคริสตจักร จนถึงวันที่คริสตจักรได้รับขึ้นไป ซึ่งเหตุการณ์นี้จะแสดงถึงจุดสิ้นสุดของยุคคริสตจักร (และการเริ่มต้นของยุค 7 ปีแห่งการทนทุกข์เวทนา) นี่แหละ คือ “คริสตจักรสากล” (the universal church) ซึ่งต่างจากคริสตจักรท้องถิ่น (the local church) ที่จะประกอบด้วยศิษยาภิบาล-ผู้สอนพระคัมภีร์ คณะมัคนายก และสมาชิกของคริสตจักร (โคโลสี 1:1824).

 

“มีกายเดียวและมีพระวิญญาณองค์เดียว เหมือนมีความเชื่อมั่นอันเดียวในการที่ท่านได้รับการทรงเรียก มีองค์พระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว ความเชื่อเดียว บัพติศมาเดียว [เล็งถึงบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์เท่านั้น]” (เอเฟซัส 4:4,5)

 

บัพติศมานี้ คือฐานรากของการรับการชำระให้บริสุทธิ์เพราะตำแหน่งที่ได้รับในพระคริสต์

(This baptism is the basis of positional sanctification.)

 

บัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ (การที่พระองค์ทรงนำผู้เชื่อให้เข้าส่วนในพระคริสต์) กระทำผู้เชื่อให้บริสุทธิ์ (1 โครินธ์ 1:2, 30; เอเฟซัส 1:4) เพราะการที่เราอยู่ “ในพระคริสต์” เราก็ได้เข้าส่วนในพระลักษณะอื่นๆ ของพระองค์ ดังต่อไปนี้ว่า

  1. ความชอบธรรมของพระองค์ His Righteousness (2 โครินธ์ 5:21)

  2. ชีวิตนิรันดร์ของพระองค์ His Eternal Life (1 ยอห์น 5:11-12)

  3. การเป็นพระบุตรของพระบิดา His Sonship (ยอห์น 1:12; กาลาเทีย 3:26)

  4. ตำแหน่งอันทรงเป็นกษัตริย์ของพระองค์ His Royalty (โรม 8:16-17; 1 เปโตร 1:4)

  5. ตำแหน่งอันทรงเป็นปุโรหิตหลวงของพระองค์ His Priesthood (1 เปโตร 2:5,9)

  6. การที่พระองค์ได้ทรงรับการเลือก His Election (เอเฟซัส 1:4)

  7. พระประสงค์นิรันดร์ของพระองค์ His Destiny (เอเฟซัส 1:5)

 

ตำแหน่งในพระเยซูอย่างมีผลย้อนหลัง (Retroactive positional truth) 

 

“ตำแหน่งในพระเยซูอย่างมีผลย้อนหลัง” ได้อธิบายถึงการที่ผู้เชื่อเข้าส่วนในพระคริสต์ นับตั้งแต่พระองค์อยู่บนไม้กางเขน เราได้เข้าส่วน (รับบัพติศมา) ในการตาย, การถูกฝังศพ, การเป็นขึ้นจากความตาย, และในการเสด็จขึ้นสวรรค์ของพระองค์

เราได้เข้าส่วนในการตายของพระองค์ (We are identified with His death)

 

 “ท่านไม่รู้หรือว่า เราทั้งหลายที่ได้เข้าส่วน [บัพติโซ] ในพระเยซูคริสต์ ก็ได้เข้าส่วน [บัพติโซ] ในความตายของพระองค์? เหตุฉะนั้นเราจึงถูกฝังไว้กับพระองค์แล้วโดยเข้าส่วน [บัพติโซ] ในความตายนั้น เพื่อว่า ดังที่พระคริสต์ได้ทรงถูกชุบให้เป็นขึ้นมาจากความตาย [คำว่า νεκρός (nekros) เขียนในรูปแบบพหูพจน์ เล็งถึงการที่พระองค์ตายในสองรูปแบบ ซึ่งได้รับการอธิบายอย่างละเอียดในหนังสือ“พระโลหิตของพระคริสต์” เขียนโดย ศจ. อาร. บี. ธีม, จูเนียร์ ] โดยพระสิริของพระบิดาอย่างไร เราก็จะได้ดำเนินตามชีวิตใหม่ด้วยอย่างนั้น” (โรม 6:3-4)

 

เราได้เข้าส่วนในการตายและการเป็นขึ้นจากความตายของพระองค์ (We are identified with His burial and resurrection)

 

“เพราะว่าถ้าเราเข้าร่วม [คำว่า συμφυτος / sumphutos] กับพระองค์ในการตายของพระองค์ เราก็จะเป็นขึ้นมาอย่างพระองค์ได้ทรงเป็นขึ้นมาจากความตายด้วย” (โรม 6:5)

 

ข้อพระคัมภีร์นี้เขียนเป็นประโยคเงื่อนไขขั้นที่หนึ่ง (first class conditional sentence) ถึงแม้ว่าเริ่มต้นด้วยคำว่า “ถ้า” แต่รูปแบบไวยากรณ์ให้เรารู้ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ข้อสมมุติ แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้น เราเข้าใจว่าผู้เขียน (อาจารย์ เปาโล) กำลังบอกว่า ผู้เชื่อได้เข้าสนิทกับพระองค์แล้ว เป็นข้อเท็จจริงที่เราไม่ต้องสงสัย

 

การอธิบายคำว่า  συμφυτος / sumphutos

  1. คำกริยาว่า “σύμφυτος / sumphutos” เป็นคำสนธิ (compound word) ประกอบด้วยสองคำ ได้แก่ “sum” ซึ่งแปลว่า “ร่วมกัน” (ผ่านไปสองพันปี คำนี้ยังถูกใช้ในภาษาอังกฤษประจำวันโดยความหมายไม่เปลี่ยนเลย เช่น “sum total”) และ φύω (phuo) (หรือ φυτεύω / phuteuo) ซึ่งมีความหมายหลักว่า “ปลูก” เพราะฉะนั้น ความหมายของคำนี้คือ “ปลูกร่วมกัน” (ในพระคัมภีร์ฉบับ KJV ข้อนี้เขียนว่า “For if we have been planted together in the likeness of His death...”

  2. เราได้พบคำว่า sumphutos แค่ครั้งเดียวในพระคัมภีร์ใหม่ ในข้อนี้อาจารย์เปาโลเขียนถึงเหตุการณ์ที่ไม่มีสิ่งเปรียบเทียบได้

  3. การแปลตรงจากภาษากรีกจึงให้เราเห็นถึงการเปรียบเทียบกับเมล็ดพืช  เสมือนกับที่เมล็ดพืชต้องถูกปลูกไว้ในดินก่อนที่จะเกิดมาเป็นสิ่งมีชีวิต  ผู้เชื่อในยุคคริสตจักรก็ได้เข้าส่วนในการตายของพระคริสต์ เพื่อว่าจะสามารถเกิดใหม่ อันเล็งถึงการที่ผู้เชื่อเข้าส่วนในการเป็นขึ้นจากความตาย (โรม 6:4) และกลายเป็น “สิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่” (“new creation” 2 โครินธ์ 5:17)

  4. ในพระคัมภีร์เรายังอ่านถึงการปลูกเมล็ดพืชเป็นการเปรียบเสมือนกับแผนการของพระเจ้าใน มัทธิว 15:13; ยอห์น  12:24, 32; 15:1-8; 1 โครินธ์ 15:42-44)  

  5. ผู้เชื่อยังได้เข้าส่วนในการที่พระเยซูเสด็จขึ้นสวรรค์ (ascension of Christ) และในการที่พระองค์ทรงประทับที่เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระบิดา (session of Christ)

 

“แต่พระเจ้า ผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระกรุณา เพราะเหตุความรักอันใหญ่หลวง ซึ่งพระองค์ทรงรักเรานั้น  ถึงแม้ว่าเมื่อเราตายไปแล้วในการละเมิด พระองค์ยังทรงกระทำให้เรามีชีวิตอยู่กับพระคริสต์ (ซึ่งท่านทั้งหลายรอดนั้นก็รอดโดยพระคุณ) และพระองค์ทรงให้เราเป็นขึ้นมากับพระองค์ และทรงโปรดให้เรานั่งในสวรรคสถานกับพระองค์ในพระเยซูคริสต์” (เอเฟซัส 2:4-6)

 

บัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์เกี่ยวข้องกับคำว่า “ในพระคริสต์” อย่างโดยตรง

 

วลีกรีก “εν χριστω” (“en Christo” / “in Christ”) ได้ปรากฏ 78 ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ และทุกครั้งนั้นก็พูดถึงการที่ผู้เชื่อคงอยู่ในพระคริสต์ เป็นตำแหน่งนิรันดร์ซึ่งไม่มีวันเปลี่ยน เนื่องจากการที่เราได้เข้าส่วนในพระคริสต์เป็นผลลัพธ์ซึ่งมาจาก “การรับบัพติศมา” ด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราจึงควรมองว่าทั้งสองสิ่งนี้เกี่ยวข้องกันอย่างโดยตรง 

 

การรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ = การเข้าส่วนกับพระคริสต์ = “ในพระคริสต์” = เป็นผู้บริสุทธิ์เพราะตำแหน่งในพระคริสต์ = ได้ร่วมส่วนในพระลักษณะของพระคริสต์ = ได้เข้าถึงพระกายของพระองค์ (คริสตจักรสากล)!

 

การได้รับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นการรับรองว่าผู้เชื่อเป็นสมาชิกนิรันดร์ในพระราชวงศ์ของพระเจ้า และมีความสัมพันธ์นิรันดร์กับ “กษัตริย์เหนือกษัตริย์” คือพระเยซูคริสต์เจ้าของเรา

 

เราได้กลายเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขี้นมาใหม่ “ในพระคริสต์” 

 

“เหตุฉะนั้นถ้าผู้ใดอยู่ในพระคริสต์ [ซึ่งเป็นสถานะของผู้เชื่อในพระคริสต์ทุกคน] ผู้นั้นก็เป็นสิ่งที่ถูกสร้างใหม่ [καινο κτιςσις / kainos ktisis] แล้ว  สิ่งเก่าๆ ก็ล่วงไป ดูเถิด สิ่งใหม่ๆ เกิดมาแล้ว [γεγονεν καινα / gegonen kaina]” (2 โครินธ์ 5:17)

 

ข้อพระคัมภีร์นี้เป็นข้อหนึ่งซึ่งคริสเตียนมักจะคุ้นเคย แต่เป็นข้อหนึ่งที่ผู้สอนมักจะสอนผิดกับบริบท ซึ่งกระทำให้ผู้ฟังเข้าใจว่าข้อนี้กำลังพูดถึงการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าพระคัมภีร์ไทยแปลคำว่า “kainos ktisis” ผิดไป คำนี้หมายถึง “สิ่งที่ถูกเนรมิตสร้างขึ้นมาใหม่” (ภาษาอังกฤษควรแปลว่า “a new creation”) ต้นฉบับภาษากรีกไม่มีคำว่า “คน” เลย แต่การที่ผู้แปลพระคัมภีร์เพิ่มคำว่า “คน” เข้าไปนั้นต้องทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดว่าข้อนี้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม “ของคน” ความจริงคือ ข้อนี้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทางฝ่ายวิญญาณทั้งนั้น

      ผู้สอนอาจยกข้อนี้ขึ้นมาอ้าง เพื่อให้ผู้เชื่อรู้สึกผิด หรือ เป็นการชี้แนะว่า การที่เป็นผู้เชื่อในพระคริสต์จะต้องพิสูจน์ด้วยการกระทำ เน้นว่า “สิ่งเก่าๆ” ที่ล่วงไปนั้นคือบาปที่ทำ และ “สิ่งใหม่” (หรือจากการแปลผิดว่า “คนใหม่”) คือการกระทำดีที่เกิดจากการเปลี่ยนชีวิต ผู้สอนยังขู่ว่า ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามนี้ แสดงว่าไม่เชื่อจริง จะต้องตกนรก หรือ อาจจะรอดแบบหวุดหวิด แต่ยังต้องโดนพระเจ้า (หรือคณะกรรมการของโบสถ์!) ลงโทษไปก่อน เป็นต้น การสอนแบบนี้จะทำให้คริสเตียนใหม่กลัว ไม่เห็นพระคุณพระเจ้า ทำให้ประทับใจกับผู้เชื่อที่แสดงพฤติกรรมดีๆ  ในที่สุด เขาเองก็จะหันไปเน้นการกระทำและการเปลี่ยนแต่ภายนอก ในการสรุป การสอนข้อนี้ผิดบริบทจะเน้นและสนับสนุนให้ผู้เชื่อกระทำสิ่งดีๆ “เพื่อพระเจ้า” ทั้งที่ข้อนี้กำลังสอนว่าพระเจ้าได้กระทำอะไรให้เราต่างหาก!

      การที่ผู้เชื่อได้เข้าส่วนในพระเยซูคริสต์เป็นสิทธิพิเศษสำหรับผู้เชื่อในยุคคริสตจักรเท่านั้น ไม่เคยมีสิ่งแบบนี้สำหรับผู้เชื่อในสมัยพระคัมภีร์เดิม และจะไม่มีอีกต่อไปหลังจากยุคคริสตจักรได้สิ้นสุดลง ในฐานะเป็นผู้เชื่อในพระคริสต์เราได้เป็นส่วนหนึ่งใน “กายของพระคริสต์” เรายังมีวลีว่า “ในพระเยซูคริสต์” และเราก็กลายเป็น “สิ่งที่ถูกเนรมิตสร้างขึ้นมาใหม่” แต่แน่นอนว่า เราไม่ได้เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่เพราะการที่เราเลือกเลิกบางสิ่งบางอย่าง เปลี่ยนนิสัย หรือเปลี่ยนพฤติกรรมประจำวันของเรา เราเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่เพราะว่า ณ เวลารอดของเรา พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้นำเราเข้าส่วนในพระเยซูคริสต์ ซึ่งทำให้เราร่วมส่วนในความชอบธรรม, ชีวิตนิรันดร์, ตำแหน่งในการเป็นกษัตริย์ของพระองค์ และพระลักษณะอื่นๆ ของพระองค์

       ตอนนี้ขอให้เราดู 2 โครินธ์ 5:17 ที่มีคำเขียนว่า “สิ่งเก่าๆ ได้ล่วงไปแล้ว” คำว่า “เก่า” ในที่นี้คือคำกรีกว่า “ἀρχαῖος” (archaios) ซึ่งถูกรักษาไว้ในภาษามนุษย์จนถึงทุกวันนี้ ผ่านสองพันปีความหมายของคำนี้ไม่ได้เปลี่ยนเลย ภาษาอังกฤษยังใช้คำ “archaic” ซึ่งมีความหมายเดิมว่า “จากจุดเริ่มต้น” หรือ “จากโบราณ” (เช่น มีคำว่า “archeology” แปลว่า “โบราณคดี”)

      ผู้ที่สอนข้อนี้ตามคริสตจักรมักจะสอนว่า “สิ่งเก่าๆ ก็ล่วงไป” นั้น หมายถึงบาปและความผิดพลาดอื่นๆ ของผู้เชื่อที่กำลังเปลี่ยนพฤติกรรมหลังจากได้เชื่อในพระเยซูคริสต์แล้ว (หรืออย่างน้อย ผู้เชื่อที่เรียนรู้ที่จะซ่อนบาปของเขาจากสายตาของคนอื่น) อย่างไรก็ตาม บริบทของข้อนี้ทำให้เรารู้ว่าอาจารย์เปาโลกำลังพูดถึงตำแหน่งของผู้เชื่อ “ในพระคริสต์” ยังมีไวยากรณ์ภาษากรีกที่บอกเราว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์ที่ผ่านไปแล้ว (คำว่า “ล่วงไป” (παρέρχομαι / par-erchomai) เขียนเป็น aorist active indicative ส่วนคำว่า “เกิดขึ้นมาใหม่” เป็นคำว่า γίνομαι / ginomai เขียนเป็น perfect active indicative ให้ผู้อ่านเข้าใจว่าการกระทำสมบูรณ์แล้ว ไม่มีอะไรต้องทำอีก)

      “สิ่งเก่าๆ ที่ล่วงไป” นั่นคืออำนาจของธรรมชาติบาป (ที่ถูกเรียกว่า “มนุษย์เก่า” ในโรม 6:6; เอเฟซัส 4:22; โคโลสี 3:9 เนื่องจากธรรมชาติบาปเก่าแก่ตั้งแต่บาปดั้งเดิมของอาดัมในสวนเอเดน) และบาปดั้งเดิมนั้น สองสิ่งนี้ได้ “ล่วงไป” (พร้อมกับการพิพากษาลงโทษจากพระเจ้า) ณ เวลามีคนเชื่อในพระคริสต์ในฐานะเป็นพระผู้ช่วยให้รอด (โรม 5:12-21; 1 โครินธ์ 15:22)

      อนึ่ง ผู้เชื่อก็ได้เปลี่ยนแปลงในเรื่องตำแหน่ง จากตำแหน่งของคนบาปที่ถูกพิพากษาลงโทษถึงบึงไฟนรก (“ในอาดัม” 1 โครินธ์ 15:22)  เขาถูกยกย้ายไปอย่างถาวร ให้อยู่ในตำแหน่งนิรันดร์ ในกษัตริย์เหนือกษัตริย์ ผู้ซึ่งประทับอยู่เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระเจ้าพระบิดา นี่คือตำแหน่งที่สูงกว่าทูตสวรรค์ทั้งหลายเสียอีก! (ฮีบรู 1:3, 4)

 

ลักษณะของบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์

 

บัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่ใช่ประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เชื่อ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ผู้เชื่อไม่สามารถมองเห็น สัมผัส ได้ยิน ได้กลิ่น หรือรับรส ของเหตุการณ์นั้นได้! การรับบัพติศมานี้เป็นเหตุการณ์ทางฝ่ายวิญญาณ วิธีเดียวที่เราสามารถรับรู้ถึงสิ่งนี้ก็คือ ผ่านความเชื่อ (“faith perception”) คือผ่านการเรียนหลักคำสอนพระคัมภีร์เท่านั้น (โรม 10:17; 2 โครินธ์ 5:7)

  1. การได้รับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่ใช่การที่รู้สึกหรือสัมผัสได้ และไม่ใช่การเคลื่อนไหวที่จะต้องแสดงออกด้วยการทำสิ่งแปลกประหลาด

  2. (สำหรับผู้เชื่อปัจจุบัน) การได้รับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่ได้สำแดงออกด้วยการพูดภาษาแปลกๆ หรือเกี่ยวกับการพูดภาษาแปลกๆ ใดๆ ทั้งสิ้น

  3. การได้รับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นพระราชกิจของพระเจ้าซึ่งพระองค์กระทำอย่างสมบูรณ์ในช่วงเวลาหนึ่ง (คือ วินาทีแรกที่คนเชื่อในพระเยซูคริสต์ในฐานะเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของตนเป็นครั้งแรก) บัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่ได้พัฒนาจากลำดับหนึ่งถึงอีกลำดับหนึ่ง ก็คือ ไม่ได้ “ดีขึ้น” หรือ “หยั่งลึกลง” ตามการเติบโตฝ่ายวิญญาณของผู้เชื่อ

  4. การรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่เกี่ยวข้องกับความพยายาม หรือความดีของผู้เชื่อ แต่เป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงประทานด้วยพระคุณ เพราะความเชื่อในพระเยซูคริสต์ 

  5. เหมือนดังที่บัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์จะไม่มีวันพัฒนา หรือ “ดีขึ้น” เพราะเป็นสิ่งที่ผู้เชื่อได้รับอย่างสมบูรณ์แต่แรก ในทางตรงกันข้าม การกระทำผิดบาปจะไม่ทำให้ผู้เชื่อต้องสูญเสียผลของบัพติศมานั้น หมายความว่า ผู้เชื่อจะไม่มีวันสูญเสียตำแหน่ง “ในพระคริสต์” ของเขาไป

  6. บัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่เกี่ยวกับเสรีภาพในการตัดสินใจของผู้เชื่อ (คุณไม่ต้องเลือกว่าจะรับบัพติศมานี้หรือไม่! เพราะเป็นสิ่งที่คุณได้รับ ณ เวลาเชื่อในพระคริสต์อยู่แล้ว)

  7. บัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ทำให้ผู้เชื่อร่วมส่วนในชัยชนะทางยุทธศาสตร์ของพระเยซูคริสต์ในสงครามระหว่างฝ่ายพระเจ้ากับฝ่ายซาตาน (โคโลสี 2:13-15)

  8. การที่เราอยู่ “ในพระคริสต์” ยังหมายความว่าเราเป็นถ้วยรางวัลแห่งพระคุณของพระเจ้า (trophies of God’s grace) ซึ่งพระคริสต์จะมอบให้แก่พระบิดา (โคโลสี 1:20-22)

  9. การรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์กระทำให้ผู้เชื่อรับสถานะเป็นสมาชิกและเป็นปุโรหิตในพระราชวงศ์ของพระเจ้าตราบชั่วนิรันดร์ (1 เปโตร 2:9)

  10. บัพติศมานี้กระทำให้ผู้เชื่อทุกคนเท่าเทียมกันในสถานภาพของการเป็นสมาชิกในพระราชวงศ์ของพระเจ้า ซึ่งเป็นสถานภาพที่เป็นไปไม่ได้ในโลกมนุษย์ (กาลาเทีย 3:26, 27)

  11. บัพติศมานี้ไม่เคยมีต่อผู้เชื่อในยุคสมัย (dispensation) อื่น (โคโลสี 1:25, 26) และจะไม่มีต่อผู้เชื่อหลังจากยุคคริสตจักรสิ้นสุดลง (พระเยซูคริสต์ได้ทรงเผยพระวจนะถึงบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ก่อนยุคคริสตจักรเพียงไม่กี่วัน (ยอห์น 14:16-20; กิจการ 1:5) แต่ไม่มีการเผยพระวจนะในพระคัมภีร์ที่บอกเราถึงบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ในยุคอื่นในอนาคต

  12. บัพติศมานี้กระทำผู้เชื่อในพระคริสต์ได้กลายเป็นหนึ่งเดียวกัน ภายในกายของพระคริสต์ (เอเฟซัส 4:3-5)

  13. บัพติศมานี้เป็นอีกหนึ่งเครื่องหมายที่บ่งบอกถึงการระงับยุคอิสราเอลไว้ชั่วคราว และเป็นการเริ่มต้นของยุคคริสตจักร (มัทธิว 16:18; กิจการ 1:5; 2:3; 11:15-17)

  14. การบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่เกี่ยวข้องกับน้ำแต่อย่างใด

 

การเปรียบเทียบระหว่าง โนอาห์ นาวา และน้ำท่วม

 

ใน 1 เปโตร 3:18-21 เปโตรได้เขียนไว้ว่า การที่โนอาห์ได้รับการช่วยให้รอดจากน้ำท่วมนั้นเป็นการอุปมาที่เปรียบเทียบกับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์

“ด้วยว่า พระคริสต์เช่นกันก็ได้ทนทุกข์ครั้งเดียวเท่านั้น เพราะความผิดบาป คือพระองค์ผู้ชอบธรรมเพื่อผู้ไม่ชอบธรรม เพื่อพระองค์จะได้ทรงนำเราทั้งหลายไปถึงพระเจ้า ฝ่ายเนื้อหนังพระองค์ก็ทรงสิ้นพระชนม์ แต่ทรงมีชีวิตขึ้นโดยพระวิญญาณ...” (1 เปโตร 3:18)  

 

“...เมื่อพระเจ้าทรงโปรดงดโทษไว้นาน คือครั้งโนอาห์ เมื่อกำลังจัดแจงต่อนาวา ในนาวานั้นได้รอดจากน้ำน้อยคน คือแปดคน เช่นเดียวกัน บัดนี้ พิธีบัพติศมา [ต้นฉบับมีแต่คำ “บัพติศมา” ไม่มีคำว่า “พิธี” อย่างที่เราได้อ่านในพระคัมภีร์ฉบับภาษาไทย] ซึ่งเป็นภาพแสดงการเปรียบเทียบ [คำกรีกคือ ἀντίτυπον /antitupon]  ที่รอดแก่เราทั้งหลาย ไม่ใช่ด้วยชำระล้างสิ่งสกปรกจากเนื้อหนัง [เล็งถึงการเอาร่างกายลงน้ำ กล่าวคือ บัพติศมาด้วยน้ำ] แต่ [สันธานแสดงความผิดแผก (contrasting conjunction)  ว่า ἀλλά / alla ] โดยให้มีความสำนึกถูกต่อพระเจ้า [“a good conscience toward God แสดงถึงความเชื่อในพระเยซูคริสต์ตอนที่ได้ยินพระกิตติคุณ]  โดยซึ่งพระเยซูคริสต์ได้ทรงเป็นขึ้นมาจากตาย [ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของพระกิตติคุณที่คนต้องเชื่อก่อนจะได้รับความรอด  1 เธสะโลนิกา 4:14]” (1เปโตร 3:20ข-21)  

 

เรือของโนอาห์เป็นสัญญลักษณ์ถึงการทรงจัดเตรียมอันสมบูรณ์แบบของพระเจ้า สำหรับทุกคนที่วางใจเชื่อในพระเยซูคริสต์ โนอาห์และครอบครัวของเขาทุกคนเป็นผู้เชื่อ พระเจ้าจึงทรงเตรียมและทรงนำพวกเขาทุกคนให้เข้าเรือ (เข้าส่วนกับเรือลำนั้น โดย “อยู่ในนาวา”) และช่วยพวกเขาให้รอดจากการพิพากษาลงโทษที่มาโดยน้ำท่วมโลกนั้น เหมือนดังที่มีประตูบานเดียวเข้าเรือ ชาวโลกก็มีแค่ประตูเดียวที่ต้องเข้า ซึ่งจะให้ “เข้าส่วน” หรือ “อยู่ในพระคริสต์” เพื่อจะรอดจากการพิพากษาของพระเจ้า (ยอห์น 10:7-9) 

 

บัพติศมา “แท้” ประการที่ 4

บัพติศมาด้วยไฟ

Real Baptism No. 4: The Baptism of Fire

บัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์เกี่ยวข้องกับการเสด็จของพระเยซูคริสต์เป็นครั้งแรก (กิจการ 1:5) อย่างที่พระเยซูตรัสต่อสาวกว่า “...เพราะว่ายอห์นให้รับบัพติศมาด้วยน้ำก็จริง แต่ไม่ช้าไม่นาน [แค่ 10 วัน คือวันเพ็นเทคอสต์] ท่านทั้งหลายจะรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์" 

      ส่วนบัพติศมาด้วยไฟนั้น เกี่ยวข้องกับการเสด็จของพระเยซูคริสต์เป็นครั้งที่สอง เมื่อพระองค์ได้เสด็จกลับมา มนุษยชาติก็จะถูกแบ่งเป็นสองประเภท ได้แก่ ผู้เชื่อ และผู้ที่ไม่เชื่อ ผู้ที่ไม่เชื่อจะต้อง “เข้าส่วนกับไฟ” (“be identified with fire”) คือจะตายด้วยไฟ (อิสยาห์ 66:15-16; ดาเนียล 7:10; โยเอล 2:1-3; มาลาคี 4:1)

 

“เมื่อบุตรมนุษย์จะเสด็จมาในสง่าราศีของพระองค์ [เป็นการเสด็จครั้งที่สองของพระคริสต์] พร้อมกับเหล่าทูตสวรรค์อันบริสุทธิ์ทั้งปวง เมื่อนั้นพระองค์จะประทับบนพระที่นั่งอันรุ่งเรืองของพระองค์ [ที่เมืองเยรูซาเล็ม] บรรดาประชาชาติต่างๆ จะประชุมพร้อมกันต่อพระพักตร์พระองค์ และพระองค์จะทรงแยกมนุษย์ทั้งหลายโดยแยกพวกหนึ่งออกจากอีกพวกหนึ่ง เหมือนอย่างผู้เลี้ยงแกะแยกแกะออกจากแพะ และพระองค์จะทรงจัดฝูงแกะให้อยู่เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระองค์ แต่ฝูงแพะนั้นจะทรงจัดให้อยู่เบื้องซ้าย” (มัทธิว 25:31-33)

 

  “แล้วพระองค์จะตรัสกับบรรดาผู้ที่อยู่เบื้องซ้ายพระหัตถ์ด้วยว่า `ท่านทั้งหลาย ผู้ต้องสาปแช่ง [ผู้ที่ไม่เชื่อ ทั้งชาวยิวและคนต่างชาติ] จงถอยไปจากเราเข้าไปอยู่ในไฟซึ่งไหม้อยู่เป็นนิตย์ ซึ่งเตรียมไว้สำหรับพญามารและสมุนของมันนั้น” (มัทธิว 25:41)

 

ในข้อนี้พระองค์ตรัสถึงบึงไฟนรก (“ไฟซึ่งไหม้อยู่เป็นนิตย์” ) แต่ก่อนหน้านั้นผู้ที่ไม่เชื่อ พร้อมด้วยซาตานและทูตสวรรค์ที่อยู่ฝ่ายเดียวกับมัน จะต้องถูกขังอยู่ในแดนคนตาย (Hades) ก่อน นั่นหมายความว่าผู้ที่ไม่เชื่อจะต้องตายไปก่อน ซึ่งจะตายเพราะการ “เข้าส่วน” กับไฟ

 

“เรา [ยอห์นกำลังพูด] ให้เจ้าทั้งหลายรับบัพติศมาด้วยน้ำ เพราะ [คำกรีกว่า εις / eis] การเปลี่ยนความคิด [คำกรีก μετάνοια / metanoia ต้องแปลตรงว่า “เปลี่ยนความคิด” เล็งถึงการเชื่อในพระคริสต์เป็นพระผู้ไถ่บาป] แต่ผู้ที่จะมาภายหลังเรา [พระเยซูคริสต์] มีฤทธิ์อำนาจยิ่งกว่าเราอีก ซึ่งเราไม่คู่ควรแม้จะถือฉลองพระบาทของท่าน ท่านจะทรงให้เจ้าทั้งหลายรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ [แก่ผู้เชื่อในยุคคริสตจักร] และด้วยไฟ [แก่ผู้ที่ไม่เชื่อที่อยู่บนโลก ณ เวลาพระคริสต์เสด็จกลับมา]” (มัทธิว 3:11 เทียบกับ ลูกา 3:16; วิวรณ์ 19:11)

      ขอสังเกตุ มัทธิว 3:11 ต้องได้รับการแปลที่ถูกต้อง กล่าวคือ “เราให้เจ้าทั้งหลายรับบัพติศมาด้วยน้ำ เพราะ การเปลี่ยนความคิด” เพื่อว่าจะไม่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดว่า การรับบัพติศมาด้วยน้ำจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (เช่น “การกลับใจ”) แล้วนำไปถึงความรอด ภาษาอังกฤษฉบับแปลหลายฉบับ (เช่น KJV, NASB, NIV บอกว่า “I indeed baptize you with water to repentance.” หรือไม่ก็ “...for repentance.”) ซึ่งทำให้ผู้อ่านต้องสับสน เพราะการแปลคำบุพบทกรีก “eis” ว่า “to” (“ถึง”) หรือ “for” (สำหรับ) ในบริบทนี้ไม่ได้ความ ในต้นฉบับมีคำ eis เขียนคู่กับคำนามว่า “metanoia” ในรูปแบบ accusative (เป็นกรรมของประโยค) ซึ่งคำ metanoia (และคำกริยา metanoeo) นั้นมีความหมายตรงตัวอักษรว่า “การเปลี่ยนความคิด” (เช่น ในมาระโก 1:15; มัทธิว 12:41) คำบุพบทว่า eis แปลได้หลายทางมาก (เช่น อยู่ที่ ต่อ เพราะ สำหรับ ถึง บน เกี่ยวกับ จึง และอื่นๆ (แม้กระนั้นก็ตาม พจนานุกรมกรีกทั้งหลายไม่พบคำที่จะตรงกับคำว่า “แสดงว่า” อย่างที่เห็นในพระคัมภีร์ฉบับภาษาไทยเลย!)) เพราะฉะนั้น คนแปลจึงต้องเข้าใจบริบทอย่างถูกต้องก่อนถึงจะสามารถแปลคำ eis ได้อย่างถูกต้องเช่นกัน ในพระคัมภีร์ยังมีข้ออื่นที่ต้องแปลคำ eis ว่า “เพราะ” ตามบริบทของมัน เช่นดังต่อไปนี้

 

“ชาวนีนะเวห์ได้เปลี่ยนความคิด [metanoeo] เพราะ [eis] คำประกาศของโยนาห์” (มัทธิว 12:41)

 

“เพราะ [eis] พระสัญญาของพระเจ้า ท่าน [อับราฮัม] มิได้วอกแวกในความไม่เชื่อ แต่ท่านมีความเชื่อมั่นคงยิ่งขึ้น จึงถวายเกียรติยศแด่พระเจ้า” (โรม 4:20) 

 

ในตอนนี้ ขอเตือนผู้เรียนว่า มีผู้สอนหลายคนที่อาจดูเหมือนว่าเป็นผู้รู้ ซึ่งสอนว่าบัพติศมาด้วยน้ำจำเป็นในการรับรองชีวิตนิรันดร์ (ซึ่งพวกนี้ได้ปฏิเสธหลักการพระคุณอันเป็นพื้นฐานในการรับความรอดด้วยความเชื่ออย่างเดียว ในพระคริสต์เพียงผู้เดียว (faith alone in Christ alone)) ผู้สอนพวกนี้ต้องอาศัยการแปลผิดของข้อนี้ (มัทธิว 3:11)เพื่อสนับสนุนข้อโต้เถียงของเขา จึงสอนเท็จว่า คำ “eis” ไม่สามารถแปลได้ว่า “เพราะ” เพื่อไม่ให้จุดยืนของเขาล้มลง

      ผู้ที่ไม่เชื่อได้ “เข้าส่วน” กับไฟตลอดนิรันดร์ ซึ่งเป็นการที่พวกเขาต้องเข้าส่วนกับการพ่ายแพ้ของซาตาน ผู้ที่ไม่เชื่อทั้งหมดที่มีชีวิตอยู่บนโลกตอนที่พระเยซูเสด็จกลับมาจะต้องถูกถอดถอนจากโลก เป็นส่วนหนึ่งของแผนการพระเจ้าในการริเริ่มยุคพันปีของพระคริสต์ พระคริสต์จะใช้ไฟในการประหารพวกเขา ซึ่งถูกเปรียบเสมือน “ตอข้าว” และ “แกลบ” 

 

“พระเยโฮวาห์จอมโยธาตรัสว่า "ดูเถิด วันนั้นจะมาถึง คือวันที่จะเผาไหม้เหมือนเตาอบ เมื่อคนที่อวดดีทั้งสิ้น เออ และคนที่ประกอบความชั่ว ทั้งหมดจะเป็นเหมือนตอข้าว วันที่จะมานั้นจะไหม้เขาหมด จนไม่มีรากหรือกิ่งเหลืออยู่เลย” (มาลาคี 4:1)

 

“พระหัตถ์ของพระองค์ถือพลั่วพร้อมแล้ว และจะทรงชำระลานข้าวของพระองค์ให้ทั่ว พระองค์จะทรงเก็บข้าวของพระองค์ไว้ในยุ้งฉาง [ผู้เชื่อจะเข้ายุคพันปีของพระคริสต์] แต่พระองค์จะทรงเผาแกลบ [ผู้ที่ไม่เชื่อ] ด้วยไฟที่ไม่รู้ดับ" (มัทธิว 3:12)

มีคำอุปมา 4 เรื่อง ที่สอนถึงการที่พระผู้เป็นเจ้าจะทรงแบ่งแยกผู้เชื่อกับผู้ที่ไม่เชื่อ ก่อนที่ผู้ที่ไม่เชื่อจะต้องรับบัพติศมาด้วยไฟ

  1. ข้าวสาลี และ ข้าวละมาน (มัทธิว 13:24-30)

  2. ปลาที่ดี และ ปลาที่ไม่ดี (มัทธิว 13:47-50)

  3. หญิงพรหมจารีที่มีปัญญา และ หญิงพรหมจารีที่โง่ (มัทธิว 25:1-13)

  4. แกะ และ แพะ (มัทธิว 25:32-41)

 

 

บัพติศมาอันเป็นพิธีกรรม

Ritual baptisms

ในพระคัมภีร์มีบัพติศมาอันเป็นพิธีกรรมทั้งสามแบบ ซึ่งทุกๆ แบบใช้น้ำ ดังต่อไปนี้

  1. พิธีบัพติศมาด้วยน้ำที่ยอห์นเป็นผู้ประกอบพิธี สำหรับผู้เชื่อที่อยู่ก่อนยุคคริสตจักร

  2. พิธีบัพติศมาด้วยน้ำของยอห์น ประกอบให้แก่พระเยซูคริสต์

  3. พิธีบัพติศมาด้วยน้ำสำหรับผู้เชื่อในยุคคริสตจักร

 

 

บัพติศมาอันเป็นพิธีกรรม ประการที่ 1

พิธีบัพติศมาด้วยน้ำของยอห์น สำหรับผู้เชื่อก่อนยุคคริสตจักรเริ่มต้น

Ritual Baptism No. 1: The water baptism of John for believers before the Dispensation of the Church Age

 

ในพิธีกรรมจุ่มน้ำทั้งสามรูปแบบนี้ น้ำเป็นสัญลักษณ์ถึงสิ่งที่ผู้ที่ได้ “รับบัพติศมา” นั้นถูกนำ “เข้าส่วน” กันตามบัพติศมาแท้อันมีผลฝ่ายวิญญาณ เช่น ในบัพติศมาด้วยน้ำของยอห์น การที่ผู้เชื่อได้เข้าไปในน้ำเป็นสัญลักษณ์ถึงการที่พวกเขาได้เข้าส่วนกับพระเมสสิยาห์ และแผ่นดินของพระองค์ (มัทธิว 3:1-11; มาระโก 1:4; ยอห์น 1:25-28) การบัพติศมาด้วยน้ำที่ยอห์นประกอบให้ผู้เชื่อเหล่านั้น จัดขึ้นในยุคอิสราเอล ไม่ใช่ยุคคริสตจักร อย่างไรก็ตาม หลังจากวันเพ็นเทคอสต์ (ซึ่ง เป็นการเริ่มต้นของยุคคริสตจักร) พวกที่ได้รับบัพติศมาจากยอห์นได้รับพิธีกรรมบัพติศมาด้วยน้ำใหม่ เป็นสัญลักษณ์ถึงการที่พวกเขาได้เข้าส่วนกับแผนการของพระเจ้าในฐานะเป็นผู้เชื่อแห่งยุคคริสตจักร (กิจการ 18:25-26; 19:1-5)

บัพติศมาอันเป็นพิธีกรรม ประการที่ 2

พิธีบัพติศมาด้วยน้ำของยอห์น ประกอบให้แก่พระเยซูคริสต์

Ritual Baptism No. 2: The water baptism of John for Jesus Christ

 

สำหรับพระเยซูคริสต์ น้ำหมายความว่าอะไร? การที่พระองค์ลงในน้ำเป็นสัญลักษณ์ถึงการที่พระองค์ยอมเข้าส่วนกับแผนการความรอดที่พระบิดาทรงประสงค์และกำหนดให้พระองค์ ได้แก่ การที่พระเยซูจะเสด็จสู่ไม้กางเขน ได้เข้าส่วนกับบาปของมนุษย์ทั้งปวง และรับการพิพากษาลงโทษสำหรับบาปเหล่านั้น เพื่อที่ “จะสำเร็จตามความชอบธรรมทุกประการ” (English: “in order to fulfill all righteousness” มัทธิว 3:15) การที่พระองค์เสด็จออกมาจากน้ำแสดงถึงการที่พระองค์จะเป็นขึ้นจากความตายถึงพระสิรินิรันดร์ ซึ่งได้รับการรับรองจากทั้งองค์พระวิญญาณบริสุทธิ์ ผู้ซึ่ง “เสด็จลงมา [จากสวรรค์] ดุจนกพิราบและสถิตอยู่บนพระองค์” และจากพระบิดา ซึ่งตรัสจากสวรรค์ว่า "ท่านผู้นี้เป็นบุตรที่รักของเรา เราชอบใจท่านมาก" (มัทธิว 3:16-17)

  พระเยซูไม่ใช่คนบาปที่เพิ่งได้รับความรอดแล้วอยากจะแสดงให้เห็นถึงชีวิตใหม่ในพระเจ้าผ่านพิธีจุ่มน้ำ พระองค์ไม่จำเป็นต้อง “เข้าส่วน” ในอาณาจักรใดๆ ก็ตาม เพราะว่าพระองค์ทรงเป็นอาณาจักรเองเพราะฉะนั้น เราต้องจำไว้ว่า บัพติศมาด้วยน้ำของพระเยซูนี้มีไว้จำเพาะพระองค์ และต้องเข้าใจว่า ในพิธีของพระองค์นั้น น้ำเป็นสัญลักษณ์ถึงพันธกิจไม้กางเขนของพระองค์

 

 

บัพติศมาอันเป็นพิธีกรรม ประการที่ 3

พิธีบัพติศมาด้วยน้ำสำหรับผู้เชื่อในยุคคริสตจักร

Ritual Baptism No. 3: The water baptism for believers of the Church Age

 

      นี่คือพิธีกรรมที่ให้ผู้เชื่อเป็นพยานต่อชีวิตใหม่ในพระคริสต์ เป็นพิธีกรรมที่เล็งถึงการที่ผู้เชื่อได้รับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ อันเป็นบัพติศมาแท้ (1 โครินธ์ 12:13; กาลาเทีย 3:27; เอเฟซัส 4:5) พิธีกรรมนี้เป็นสิ่งจำเป็นในการให้ผู้เชื่อใหม่สามารถเข้าใจว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้นำพวกเขาให้เข้าส่วนกับพระเยซูคริสต์ ก่อนที่หลักคำสอนเรื่องนี้ได้รับบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และในที่สุดได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพระคัมภีร์ใหม่

      พิธีกรรมบัพติศมาด้วยน้ำนี้ มีไว้สำหร้บผู้เชื่อในพระคริสต์เท่านั้น (กิจการ 8:37) ในการรับบัพติศมานี้ น้ำได้เล็งถึงการที่ผู้เชื่อเข้าส่วนในพระคริสต์ (identified with Jesus Christ) และ พระกายของพระองค์ (คือ คริสตจักรของพระองค์) ซึ่งอยู่ในบท “บัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์” ก่อนหน้านี้

 

พิธีกรรมบัพติศมาด้วยน้ำได้เล็งถึงการที่ผู้เชื่อ “เข้าส่วน” ในทางสองด้าน (a double identification ตาม ที่อาจารย์เปาโลเขียนไว้ใน โรม 6:3-13)

  1. การที่ผู้เชื่อลงใต้พื้นน้ำเป็นสัญลักษณ์ถึงการเข้าส่วนกับพระเยซูในความตาย คือ ความตายทางฝ่ายวิญญาณ (substitutionary spiritual death) และทางฝ่ายร่างกาย (physical death) และ ในการฝังพระศพของพระองค์ ซึ่งยังเป็นสัญลักษณ์ว่า ผู้เชื่อได้พ้นจากบาปแล้ว

  2. การที่ผู้เชื่อได้ผุดขึ้นจากน้ำเป็นสัญลักษณ์ถึงการเข้าส่วนกับพระเยซูคริสต์ในการเป็นฟื้นขึ้นจากความตาย การเสด็จสู่สวรรค์ และการที่พระองค์ทรงพระทับเบื้องขวาพระหัตถ์ของพระบิดา (current positional truth) ก็ยังเป็นสัญลักษณ์ว่าผู้เชื่อกำลังดำเนินในชีวิตใหม่ และมีโอกาสที่จะผลิตผลฝ่ายวิญญาณได้


สำหรับยุคคริสตจักร มีสองพิธีกรรมที่ประกอบภายในคริสตจักร

  1. บัพติศมาด้วยน้ำ ซึ่งคริสตจักรส่วนใหญ่จะแนะนำผู้เชื่อทำครั้งเดียวหลังจากผู้เข้าร่วมได้ผ่านการอบรมก่อน 

  2. พิธีมหาสนิท ซึ่งคริสตจักรส่วนใหญ่ทำเดือนละครั้ง แต่ผู้เชื่อสามารถประกอบพิธีส่วนตัวเองได้ (1 โครินธ์11:23-27)

มุมมองของเปาโลและเปโตร ถึงพิธีบัพติศมาด้วยน้ำ ในช่วงหลังๆ ของพันธกิจของพวกเขา

 

      ข้อพระคัมภีร์ที่เขียนถึงพิธีบัพติศมาด้วยน้ำ ส่วนมากพบในพระธรรมกิจการของอัครทูต ข้อเหล่านี้บันทึกถึงช่วงเริ่มต้นของยุคคริสตจักร ก่อนที่มีใครบันทึกถึงบัพติศมาที่แท้จริง (บัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ ที่ให้ผู้เชื่อได้เข้าส่วนกับพระเยซูคริสต์) เป็นตัวหนังสือ

      อาจารย์เปาโลได้บอกชาวโครินธ์ว่าเขาหยุดการใช้พิธีบัพติศมาด้วยน้ำเพราะว่า การเข้าใจผิดเกี่ยวกับวิธีการประกอบพิธีและความหมายของพิธีบัพติศมากำลังกระทำให้พี่น้องในพระคริสต์แตกแยกกัน (กิจการ 2:38; 8:36-38; 16:15, 33; 1 โครินธ์ 1:11-17)

 

“เพราะว่าพระคริสต์มิได้ทรงใช้ข้าพเจ้าไปเพื่อให้เขารับบัพติศมา [ด้วยน้ำ] แต่เพื่อให้ประกาศข่าวประเสริฐ แต่มิใช่ด้วยชั้นเชิงฉลาดในการพูด เกรงว่าเรื่องกางเขนของพระคริสต์จะหมดฤทธิ์เดช” (1 โครินธ์ 1:17)

 

      ในเวลาต่อมา เปโตรก็เห็นว่ามีผู้เชื่อหลายคนที่เน้นพิธีบัพติศมาด้วยน้ำมากเกินควร จึงได้สอนอย่างประชดว่า พิธีน้ำนั้นเปรียบเสมือนกับการอาบน้ำ (“ชำระราคีแห่งเนื้อหนัง” พระคัมภีร์ฉบับแปลภาษาอังกฤษมักใช้คำว่า “putting away of the filth” 1 เปโตร 3:21) ซึ่งผู้เขียนอธิบายข้อนี้แล้วในหัวข้อ การเปรียบเทียบระหว่าง โนอาห์ นาวา และน้ำท่วม) หลักการสำคัญในที่นี้คือ การกระทำพิธีกรรมโดยปราศจากความเข้าใจในความจริงที่อยู่เบื้องหลังพิธีนั้นล้วนไม่มีความหมาย (“ritual without reality is meaningless.”)

      อาจารย์เปาโลเขียนในโรม 6:3-4 และ 1 โครินธ์ 12 เพื่ออธิบายถึงบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์และการเข้าส่วนในพระคริสต์ในการตายและในการเป็นขึ้นจากความตายของพระองค์ อัครสาวกได้ใช้พิธีบัพติศมาด้วยน้ำเพื่อให้ผู้เชื่อเข้าใจถึงสิ่งเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม อาจารย์เปาโลรู้จักหลักคำสอนเรื่องนี้ และผ่านการเขียนของเขาพยายามให้ผู้อ่านเข้าใจว่าการสอนเกี่ยวกับเรื่องที่ผู้เชื่อเข้าส่วนกับพระคริสต์ผ่านการรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์จะเกิดผลได้มากกว่าการทำพิธีบัพติศมาด้วยน้ำ

      ขอย้ำอีกครั้งว่า หลังจากพระคัมภีร์ได้บันทึกไว้อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว พิธีบัพติศมาด้วยน้ำกลายเป็นเรื่องไม่จำเป็น เนื่องจากคำสั่งสอนที่ได้มาจากพระคัมภีร์จะทำให้ผู้เชื่อเข้าใจถึงการเข้าส่วนกับพระเยซูผ่านบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ ได้ยิ่งลึกซึ้งกว่าพิธีกรรมบัพติศมาด้วยน้ำ

 

การรับพิธีบัพติศมาด้วยน้ำเป็นเรื่องจำเป็นก่อนได้รับความรอดหรือไม่?

 

มีอย่างน้อย 4 เหตุผลหลักที่ให้เราจะต้องตอบ “ไม่” ต่อคำถามนี้

 

1. เหตุผลทางศาสนศาสตร์ (Theological Reason) 


พระคำของพระเจ้าสอนชัดเจนว่าเราได้รับความรอดโดยพระคุณ เพราะความเชื่อในพระคริสต์เพียงผู้เดียว เราจึงต้องสรุปง่ายๆ ว่า พิธีบัพติศมาด้วยน้ำไม่ได้ให้คนรอด หรือเป็นส่วนหนึ่งในการนำคนหนึ่งมาถึงความรอด มนุษย์ไม่สามารถกระทำสิ่งใดๆเพื่อที่จะรับชีวิตนิรันดร์ หรือจะรักษาชีวิตนิรันดร์ของเขาเอาไว้ได้ (โรม 4:4-5; 11:6; เอเฟซัส 2:8-9; ทิตัส 3:5)

 

2. เหตุผลจากข้อพระคัมภีร์อย่างโดยตรง (Direct evidence from the scripture)

 

“แต่เมื่อฟีลิปได้ประกาศเรื่องอาณาจักรของพระเจ้า และพระนามแห่งพระเยซูคริสต์แล้ว คนทั้งหลายได้เชื่อ และรับบัพติศมาทั้งชายและหญิง ซีโมนเองก็เชื่อ และเมื่อรับบัพติศมาแล้วก็อยู่กับฟีลิปต่อไป” (กิจการ 8:12,13)

 

      ข้อนี้ให้เราเห็นลำดับเหตุการณ์ได้ชัด ความเชื่อมาก่อน (ซึ่งความเชื่อก็พอที่จะรับความรอดแล้ว ตาม ยอห์น 3:16; กิจการ 16:31) การรับบัพติศมาด้วยน้ำมาทีหลัง

      ในกิจการ 10:44-48 เราก็เห็นลำดับเหตุการณ์อันเดียวกัน เปโตรได้ประกาศข่าวประเสริฐเป็นสิ่งแรก แล้วพระวิญญาณบริสุทธิ์ “...เสด็จลงมาสถิตกับคนทั้งปวงที่ฟังพระวจนะนั้น” ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่บอกเราว่าพวกเขาได้เชื่อในสิ่งที่ฟังด้วย แล้วรับความรอดแล้ว (พระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่มีทางที่จะสถิตกับผู้ที่ไม่เชื่อ หรือให้คนที่ไม่เชื่อพูดภาษาต่างๆ และยกย่องสรรเสริญพระเจ้า) และแล้วเปโตร “จึงสั่งให้เขารับบัพติศมาในพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า”

      กิจการ 9:17-18; 22:6-16 : ลำดับเหตุการณ์เป็นดังนี้ว่า (1) อาจารย์เปาโลได้บังเกิดใหม่ในเมืองดามัสกัส หลังจากอานาเนียได้ท้าทายเขาให้เชื่อในพระเยซู (กิจการ 22:16) (2) เปาโลถูกประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ และ (3) อานาเนียประกอบพิธีบัพติศมาด้วยน้ำให้เปาโล (กิจการ 9:18; 22:16)

3.เหตุผลตามหลักตรรกวิทยา (The logical argument)

 

คนที่เชื่อว่าบัพติศมาด้วยน้ำเป็นเงื่อนไขในการรับความรอดควรคำนึงถึงเหตุการณ์ที่คนที่เชื่อในพระคริสต์แล้วไม่สามารถรับบัพติศมาด้วยน้ำได้ เช่น คนที่ป่วยหนัก หรือโดนอุบัติเหตุ แล้วตายก่อนที่เขามีโอกาสรับบัพติศมาด้วยน้ำได้ มีตัวอย่างที่ชัดเจนจากพระคัมภีร์ใน ลูกา 23:29-43 ที่มีคนร้ายแสดงความเชื่อในพระเยซู พระเยซูรับรองว่าคนนั้นได้รอดแล้ว  ("เราบอกความจริงแก่เจ้าว่า วันนี้เจ้าจะอยู่กับเราในเมืองบรมสุขเกษม") โดยคนร้ายไม่มีโอกาสได้รับบัพติศมาด้วยน้ำ

 

4.พิธีบัพติศมาด้วยน้ำไม่ได้ช่วยเราในเรื่องรับความรอดนิรันดร์  (The water baptism does not provide eternal salvation)

 

      พระเจ้าทรงประทานทรัพยากรฝ่ายวิญญาณทั้ง 40 ประการ (The 40 Spiritual Absolutes) ณ เวลาเชื่อในพระคริสต์ในฐานะเป็นพระผู้ช่วยให้รอด ซึ่งทำให้ผู้เชื่อมีความสัมพันธ์ที่สมบูรณ์แบบและอยู่ชั่วนิรันดร์ (ยอห์น 3:16; ฮีบรู 10:14 ขอดูหลักคำสอน ทรัพยากรฝ่ายวิญญาณทั้ง 40 ประการ เขียนโดย ศจ. อาร์. บี. ธีม, จูเนียร์) ด้วย 40 สิ่งที่ได้รับนั้น เราไม่จำเป็นต้องเพิ่มเติมสิ่งใดเข้าไป  ไม่ว่าจะ “ชำระราคีแห่งเนื้อหนัง” มากน้อยแค่ไหน (1 เปโตร 3:21)

      พิธีบัพติศมาด้วยน้ำ (หรือพิธีกรรมอื่นๆ ใดๆ) ไม่สามารถกระทำให้ผู้เชื่อมีความสัมพันธ์กับพระเจ้าที่ดีกว่าเดิม หรือทำให้โตขึ้นฝ่ายวิญญาณแต่อย่างใด สิ่งเดียวที่จะทำให้ผู้เชื่อโตขึ้นฝ่ายวิญญาณคือ การดำเนินชีวิตด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์และตามหลักคำสอนที่ได้สะสมไว้ในจิตใจผ่านการศึกษาพระคำของพระเจ้า

      พิธีบัพติศมาด้วยน้ำไม่ใช่การอัศจรรย์ ไม่ได้เป็นการมอบของประทานพิเศษ หรือเปลี่ยนสถานะฝ่ายวิญญาณของผู้เชื่อ พิธีกรรมนี้ก็ไม่ได้เพิ่มพระคุณ, รับรองความรอด, กระตุ้นให้พระบิดาให้อภัยคนกระทำผิดบาป หรือเป็นเหตุให้พระเจ้าอวยพรผู้เชื่ออย่างเป็นพิเศษ พิธีบัพติศมาด้วยน้ำเป็นสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายที่แสดงถึงเหตุการณ์ฝ่ายวิญญาณที่เกิดขึ้นมาแล้วในชีวิตส่วนตัวของผู้เชื่อ

 

บทสรุป

 

      พระคัมภีร์สอนไว้ว่า มีแต่บัพติศมาเดียวที่นำผู้เชื่อในยุคคริสตจักรเข้าถึงพระคริสต์และพระกายของพระองค์ (คือ คริสตจักรสากล) และนั่นก็คือการรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ อาจารย์เปาโลได้เน้นข้อเท็จจริงนี้โดยเขียนไว้ว่า “มีบัพติศมาเดียว” (เอเฟซัส 4:5) ซึ่งสอนถึงการที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้นำผู้เชื่อใหม่ให้เข้าส่วนกับพระเยซูคริสต์ ณ เวลาที่เชื่อในพระคริสต์ในฐานะเป็นพระผู้ช่วยให้รอดเพียงผู้เดียวของตน (at the moment of faith alone in Christ alone) ก็ไม่ใช่ ณ เวลาที่ผู้เชื่อตัดสินใจที่จะรักพระเจ้า หรือสัญญากับพระเจ้าว่าจะเป็นคริสเตียนที่ดี หรือประกาศข้างหน้าโบสถ์ว่าได้เชื่อพระเยซูแล้ว หรือแม้กระทั่งจะได้รับบัพติศมาด้วยน้ำ สำหรับผู้เชื่อในยุคคริสตจักร พิธีรับบัพติศมาด้วยน้ำนั้นเป็นพิธีที่สอนเกี่ยวกับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ (ขอเสริมอีกประเด็นหนึ่งว่า ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่สอนว่า การรับบัพติศมาด้วยน้ำอาจไม่จำเป็นเพื่อที่จะเข้าสวรรค์ แต่ผู้เชื่อยังจำต้องรับบัพติศมาด้วยน้ำเพื่อเป็นการแสดงออกถึงความเชื่อของเรา อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อพระคัมภีร์ที่สนับสนุนความคิดนี้)

      ถ้ามีคนเชื่อในพระเยซูคริสต์ คนนั้นได้รับบัพติศมาที่แท้จริงเรียบร้อยแล้ว (โรม 6:3-4; 1 โครินธ์ 12:13 และข้ออื่นๆ) ถ้าคนนั้นเข้าใจเรื่องนี้ผ่านการเรียนเกี่ยวกับหลักคำสอนเรื่องบัพติศมา เขาถึงพร้อมที่จะตัดสินใจว่าอยากจะรับพิธีรับบัพติศมาด้วยน้ำ อย่างไรก็ตาม หากเขา หรือผู้อื่นที่เป็นพยานต่อพิธีนั้น ไม่เข้าใจถึงความหมายของพิธี  พิธีนั้นก็ไร้ประโยชน์แก่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่รับบัพติศมา ผู้ประกอบพิธี หรือพยาน ทุกคนต้องเข้าใจว่า คนนั้นได้เข้าส่วนในพระคริสต์แล้วและมีชีวิตใหม่ ไม่ใช่เพราะการลงไปในน้ำ แต่เพราะความเชื่อในพระเยซูคริสต์

 

“เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ผู้ที่เชื่อในเราก็มีชีวิตนิรันดร์” (ยอห์น 6:47)

www.ibdoctrine.org

bottom of page